สูตรสำเร็จรูปของ Excel 2003 ที่เราใช้กันจนชิน (จนไม่อยากเปลี่ยนมาใช้ Excel 2007 หรือ Excel รุ่นที่ใหม่กว่า) มีข้อกำหนดในตัวสูตรว่า ในวงเล็บของสูตรสำเร็จรูปหนึ่งๆนั้น สามารถซ้อนสูตรเข้าไปได้อีก 7 สูตร และในวงเล็บของบางสูตรจะถูกแบ่ง Argument หรือตัวแปรที่คั่นด้วยเครื่องหมาย comma แบ่งได้สูงสุด 30 Arguments (หรืออีกนัยหนึ่งใส่ Comma ได้สูงสุด 29 ตัวเพื่อแบ่งส่วนในวงเล็บออกเป็น 30 ส่วน) และสูตรที่ยาวที่สุดที่สามารถพิมพ์ลงไปในเซลล์หนึ่งๆได้นั้น ยาวได้สูงสุด 1,024 ตัวอักษร
ข้อกำหนดเหล่านี้นับว่าเพียงพอกับการคำนวณทั่วไป นานๆทีจึงมีโจทย์ที่ต้องใช้จนเกินกว่าขีดจำกัด ซึ่งแก้ไขได้ง่ายๆโดยแยกการคำนวณเป็นส่วนๆ แล้วแบ่งแต่ละเซลล์ให้แยกคำนวณแต่ละส่วนของสูตร จากนั้นจึงนำผลการคำนวณที่ได้มาคำนวณร่วมกันต่อเป็นขั้นๆ หรือไม่ก็ต้องฉลาดเลือกใช้สูตรอื่นที่คำนวณได้คำตอบแบบเดียวกันแทน
สำหรับสูตรสำเร็จรูปใน Excel รุ่น 2007 เป็นต้นมา ปรับข้อกำหนดดังกล่าวเป็นดังนี้
- ในวงเล็บของสูตรสำเร็จรูป สามารถซ้อนสูตรเข้าไปได้อีก 64 สูตร (Nested levels of functions)
- ในวงเล็บของสูตรสำเร็จรูป สามารถแบ่งออกเป็น 255 arguments (Arguments in Functions)
- ในเซลล์หนึ่งๆรับสูตรได้ยาวที่สุด 8,192 characters (Length of formula contents)
ข้อกำหนดเหล่านี้เปิดกว้างให้เราสร้างสูตรได้สบายขึ้น ซึ่งขอแนะนำว่าอย่าใช้ความสบายจนเกินตัว เพราะตัวคุณนั่นแหละที่จะถูกลงโทษหากสร้างสูตรแบบสบายเกินไป เพราะหากต้องย้อนกลับมาแกะสูตรเพื่อแก้ไขอีกในภายหลัง มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลยที่จะแกะสูตรซ้อนกันหลายสิบชั้น
พึงระลึกไว้เสมอว่า สูตรที่คุณสร้างตั้งแต่แรกนั้น ต้องเป็นสูตรที่ใช้งานได้ตลอดไปโดยไม่ต้องย้อนกลับมาแก้ไขสูตรอีก แต่ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขสูตร ก็ต้องแก้ไขได้ง่าย ไม่ว่าคุณหรือเพื่อนของคุณก็ต้องแกะสูตรได้ง่าย
ดังนั้นการที่ Microsoft ปรับข้อจำกัดของสูตรให้ยืดหยุ่นมากขึ้นนี้ ถ้าสูตรใดที่คุณคิดว่ามีเงื่อนไขของการคำนวณไม่ยากนัก"ต่อการจำของคุณ"และง่ายที่จะย้อนกลับมาแก้ไข ก็เชิญซ้อนสูตรเข้าไปหลายๆชั้นได้ตามใจ แต่ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เช่น มีสูตรอื่น หรือต้องปรับโครงสร้างตารางเสียใหม่เพื่อให้เข้ากับสูตรนั้น ก็ขอแนะนำให้ตัดสินใจเลือกให้ดี