Data Table แบบไม่จำกัดตัวแปร

วิธีดัดแปลง Data Table ให้ทำงานได้ไม่จำกัดตัวแปร เป็นเคล็ดลับที่ผมค้นพบตั้งแต่สมัยทำงานวิเคราะห์โครงการลงทุนให้กับบริษัทซีพี ตอนนั้นยังไม่ยอมเปิดเผยเคล็ดลับนี้กับใครเพราะถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้สามารถใช้ Excel วิเคราะห์วางแผนได้ไม่จำกัด และยังไม่เคยพบว่ามีฝรั่งชาติอื่นคนใดทราบวิธีที่ผมใช้ แต่พอผมเปลี่ยนอาชีพมาเป็นวิทยากรก็ตั้งใจว่าจะเปิดเผยให้เรียนรู้อย่างไม่ต้องปิดบังกันแต่อย่างใด

สมัยที่ทำงานอยู่บริษัทซีพี ผมคุยให้หัวหน้าที่เป็นคนจีนเชื้อสายฝรั่งฟังว่า ผมสามารถใช้โปรแกรม Lotus 1-2-3 วิเคราะห์โครงการได้อย่างไม่จำกัดตัวแปร ช่วงแรกเขายังสงสัยว่าที่ผมว่าไม่จำกัดตัวแปรนั้นเป็นอย่างไร หัวหน้าคนนี้ขอให้ผมสาธิตวิธีการให้เขาดู พอเขาเห็นวิธีที่ผมใช้ว่าสามารถช่วยให้วิเคราะห์โครงการได้ยืดหยุ่นเพียงใด เขาก็สั่งงานผมเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัวทีเดียว (แม้งานจะหนักขึ้นแต่ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมากเพราะหัวหน้าให้เกียรติลงมานั่งที่โต๊ะกับผมเพื่อให้ผมสาธิตให้ดู ซึ่งหัวหน้าคนนี้มีตำแหน่งใหญ่เป็นอันดับสองของซีพีทีเดียว และในชั่วชีวิตของผมก็มีหัวหน้าคนนี้เพียงคนเดียวที่ยอมมานั่งข้างๆเพื่อดูผมทำคอมพิวเตอร์)

หลักการที่ช่วยทำให้ Data Table คำนวณได้ไม่จำกัดตัวแปร เกิดจากการนำสูตร Index ดึงตัวแปรแต่ละชุดไปแทนที่ตัวแปรที่ใช้ตามปกติ (โดยตัวแปรแต่ละชุดมีจำนวนตัวแปรนับร้อยนับพันตัวได้ไม่จำกัด) แทนที่จะใช้ Data table ส่งค่าตัวแปรที่ใช้คำนวณไปยัง Row Input Cell หรือ Column Input Cell โดยตรง ให้เปลี่ยนไปใช้เลขที่ Row หรือเลขที่ Column ของตารางฐานข้อมูลเป็นตัวแปรแทน

พอ Data Table เริ่มส่งตัวเลข Row Input Cell หรือ Column Input Cell ก็จะทำให้สูตร Index ดึงตัวแปรที่เกี่ยวข้องส่งต่อไปยังตารางคำนวณและเกิดผลลัพธ์ส่งกลับมาแสดงในตาราง Data Table (ซึ่งการทำงานแบบนี้ยังทำให้เครื่องมือที่เรียกว่า Scenarios กลายเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัย เราไม่ควรเสียเวลาหรือใส่ใจที่จะนำ Scenarios มาใช้อีกต่อไป)

image132

 

  1. วงจรการคำนวณในภาพข้างต้นนี้เริ่มจากสร้างตารางฐานข้อมูลชื่อ MyData จากเซลล์ N13:P16 เพื่อบันทึกตัวแปรยอดขายและต้นทุนของแต่ละ Case ที่เป็นไปได้ เช่น Case1 กำหนดให้ยอดขายเท่ากับ 100 และมีต้นทุนแต่ละตัวเท่ากับ 10, 20, 30 และบันทึก Case2, Case3 ใน column ถัดไป
  2. เซลล์ J12 ถือเป็นหัวใจของการคำนวณ โดยกำหนดให้พิมพ์เลข 1, 2, หรือ 3 ลงไปเพื่อแสดงถึงเลขที่ Case ที่ต้องการนำมาคำนวณ เช่น ตามภาพนี้เซลล์ J12 มีค่าเป็นเลข 1 ซึ่งแสดงว่ากำลังดึงตัวแปรของ Case1 มาใช้คำนวณ (หรือหมายถึง Column ที่ 1 จากตารางชื่อ MyData)
  3. เซลล์ J13:J16 ใช้สร้างสูตร =INDEX(MyData,0,J12) แบบ Array ลงไปพร้อมกันเพื่อดึงข้อมูลจากตารางชื่อ MyData ตามเลข Column ที่เลือกจากเซลล์ J12
  4. เซลล์ H13:H16 ใช้สร้างสูตรรับค่าแต่ละเซลล์ต่อมาจากข้อ 3 เพื่อนำมาคำนวณเป็นงบการเงินเพื่อหายอด Margin, Tax, และ Profit
  5. ตาราง Data Table คือพื้นที่ตาราง M20:P27 เป็น Data Table แบบ 1 ตัวแปร
    • กำหนดให้วางตัวแปรเป็นเลขที่ Case ไว้บนหัวตารางด้านบนในช่วง N20:P20
    • หัวตารางด้านข้าง M21:M27 ใช้สร้างสูตร link ผลลัพธ์จากงบการเงินทั้งงบจากช่วงเซลล์ H13:H19 มาแสดงเซลล์ต่อเซลล์ตามลำดับรายการของงบการเงิน
    • ในการสั่ง Data Table ให้เลือกพื้นที่ตาราง M20:P27 แล้วใช้ Row Input Cell เป็นเซลล์ J12
  6. วงจรของการคำนวณของ Data Table เริ่มจาก Data Table ยิงตัวเลขที่ Case ไปที่เซลล์ J12 จากนั้นสูตร Index ในช่วง J13:J16 จะดึงค่าจากตาราง MyData ส่งค่าต่อไปยังงบการเงินในช่วง H13:H16 แล้ว Data Table จะดึงผลลัพธ์กลับมาแสดงแต่ละ Case ตามแนวของเลขตัวแปรซึ่งเป็นเลขที่แต่ละ Case ที่อยู่ในหัวตารางด้านบน ถือเป็นการทำงานครบวงจรของ Data Table ที่มีการส่งค่าไปแล้วรับผลลัพธ์กลับมา (หากเข้าใจประเด็นนี้ จะสามารถใช้ Data Table ส่งค่าตัวแปรข้ามชีทหรือข้ามแฟ้มได้ด้วย)

Related Articles

© Copyright 1999

สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

ห้ามนำข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความหรือวิดีโอหรือรูปภาพไปใช้เพื่อการค้าขาย หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

อนญาตให้นำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยขอให้ระบุที่มาและชื่อผู้เขียนกำกับไว้ด้วยเสมอ

ลิงก์เว็บ Excel Expert Training

เว็บสำหรับ เรียนออนไลน์

เว็บสำหรับ เรียนแบบกลุ่ม-ส่วนตัว

ติดตามข่าวสารได้จาก facebook

ถามปัญหาได้ที่ กลุ่มคนรัก Excel

และไลน์กลุ่ม Excel Expert Group

ที่อยู่และการติดต่อ

สมเกียรติ ฟุ้งเกียรติ 7/1 รามคำแหง ซอย 35 หัวหมาก บางกะปิ กทม 10240 โทร 097-140-5555, 02-718-9331

Excel@ExcelExpertTraining.com

sfk234x234