เพื่อทำให้เข้าใจตรงกัน จึงขอให้คำจำกัดความในความหมายของตารางคำนวณก่อนว่า ตารางคำนวณในบทความนี้มิได้หมายถึงพื้นที่ตารางว่างๆที่คุณจะเห็นทันทีบนจอเมื่อเปิดโปรแกรม Excel ขึ้นมาใช้งาน แต่ตารางคำนวณในที่นี้มีความหมายถึงตารางซึ่งคุณสร้างขึ้นมาเองโดยมีข้อมูลบันทึกไว้แล้ว อาจเป็นข้อมูลตัวเลข ตัวอักษร หรือสูตรใดๆก็ได้ ทั้งนี้มีเจตนาเพื่อใช้พื้นที่เซลล์หรือตารางนั้นในการคำนวณหาคำตอบที่คุณต้องการโดยเฉพาะ เช่น ตารางคำนวณค่าแรงที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างทำงานในแต่ละกะ ตารางคำนวณยอดต้นทุนขายแบบ Fist-in First-out ตารางคำนวณหาจำนวนสินค้าที่ต้องวางแผนสั่งผลิต (Material Requirements Planning) หรือตารางคำนวณเพื่อวางแผนการลงทุน (Feasibility Study) เป็นต้น
ตารางที่ไม่ถือว่าเป็นตารางคำนวณในบทความนี้ ได้แก่ ตารางฐานข้อมูลซึ่งใช้บันทึกข้อมูลดิบ(ไม่มีสูตร) ตารางรายงานที่จัดโครงสร้างเพื่อพิมพ์ในกระดาษหรือแสดงผลให้เห็นบนจอ หรือตารางที่ Excel จัดโครงสร้างให้เองอัตโนมัติจากการใช้คำสั่งบนเมนู SubTotals หรือ Pivot Table
ตารางคำนวณโดยทั่วไปประกอบด้วยพื้นที่ตารางย่อย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ตารางสำหรับเก็บค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณ และพื้นที่ตารางอีกส่วนหนึ่งใช้สำหรับสร้างสูตรคำนวณซึ่งรับค่ามาจากค่าตัวแปรในพื้นที่ส่วนแรกนั่นเอง โดยผู้ใช้งานจะใช้พื้นที่ส่วนแรกในการพิมพ์ค่าตัวแปรตัวใหม่ลงไป จากนั้นจะแสดงคำตอบจากการคำนวณให้เห็นในตารางส่วนที่เป็นสูตรคำนวณ