ตัวอย่างที่ผ่านมาเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงที่เชื่อมค่าจาก Module ที่วางไว้ด้านบนติดกัน เหมาะกับการคำนวณที่มีขั้นตอนต่อเนื่องกันไปแบบเส้นตรง แต่หากการวางแผนการผลิตต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ (Bill of Materials : BOM) ในโครงสร้างที่ซับซ้อนตามภาพต่อไปนี้ ก็ต้องหาทางพัฒนาโครงสร้างตารางคำนวณแบบ Dynamic
จากภาพแสดงถึงการผลิตสินค้า A ซึ่งหากผลิตเพียง 1 หน่วย ( Unit = 1 ) ต้องอาศัยวัสดุ B จำนวน 2 หน่วยและ C จำนวน 3 หน่วย โดยในการผลิตวัสดุ B ต้องใช้วัสดุ D จำนวน 2 หน่วยและวัสดุ E จำนวน 2 หน่วย ส่วนวัสดุ C ต้องใช้วัสดุ E จำนวน 2 หน่วยและวัสดุ F จำนวน 2 หน่วย ซึ่งในการผลิตวัสดุ F เองก็ต้องอาศัยวัสดุ G จำนวน 1 หน่วยและวัสดุ D จำนวน 2 หน่วย
ส่วนคำว่า LT ย่อมาจากคำว่า Lead Time หมายถึงช่วงเวลานำ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตหรือระยะเวลาที่ต้องรอคอยในการได้มาของสินค้า จากภาพแสดงว่าสินค้า A ต้องใช้ระยะเวลาผลิต 1 วัน (หรือหน่วยของระยะเวลาอื่นๆก็ได้ ในตัวอย่างนี้ขอใช้ระยะเวลาเป็นหน่วยวัน) วัสดุ B, C, D, E, F, G ต้องใช้ระยะเวลาผลิตหรือระยะเวลารอคอยเท่ากับ 2 วัน, 1 วัน, 1 วัน, 2 วันและ 3 วัน ตามลำดับ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ ระบบการวางแผนและควบคุมการผลิต โดยรศ.พิภพ ลลิตาภรณ์ สำนักพิมพ์ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น))
ในการออกแบบตารางคำนวณเพื่อวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirements Planning – MRP) ต้องหาทางสร้างตารางคำนวณที่สามารถคำนวณตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เดิมสินค้า A มีวัสดุ B และ C เป็นโครงสร้างในการผลิต หากในภายหลังมีวัสดุ G เพิ่มเติม หรือเลิกใช้วัสดุ B หรือใช้วัสดุอื่นมาแทนที่ และหากตัวเลขจำนวนการใช้วัสดุและ LT เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ต้องหาทางประยุกต์ใช้ Excel กับงาน MRP ได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขสูตรคำนวณใหม่แม้แต่น้อย
อนึ่งในแง่ของโครงสร้างผลิตภัณฑ์ยังมีศัพท์คำว่า Parent กับ Child ที่ต้องทำความเข้าใจเพราะเป็นหลักการสำคัญที่นำไปใช้ในการสร้างตารางคำนวณ เช่น หากกำหนดให้สินค้า A เป็น Parent ก็จะพบว่ามีวัสดุ B และ C เป็น Child แล้วหากกำหนดให้วัสดุ B เป็น Parent ก็จะพบว่ามีวัสดุ D และ E เป็น Child ซึ่งจะเห็นว่าการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเป็น Parent-Child เป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตสินค้าหรือวัสดุในลำดับหนึ่งนั่นเอง
ตัวอย่างต่อไปนี้มาจากชีทชื่อ DynamicCompound ในแฟ้มชื่อ CompoundModule.xls
โครงสร้างตารางคำนวณแบบ Compound Module คือ พื้นที่ตารางตั้งแต่เซลล์ B6:P7 มีเซลล์ที่ใช้รับค่าตัวแปรใน Column B, C, E, และ F โดยใช้เซลล์ B6 สำหรับบันทึกชื่อ Item ในระดับ Child และใช้เซลล์ C6 บันทึกชื่อ Parent โดยใช้เซลล์ E6 และ F6 บันทึกตัวเลขสัดส่วนการผลิตและ Lead Time ตามลำดับ
วิธีการนำ Module ไปใช้งาน ให้เริ่มจาก Copy Module จากเซลล์ B6:P7 ไป Paste ต่อๆกันไปให้ครบตามจำนวนความสัมพันธ์ระหว่าง Child->Parent ที่มีอยู่ (B->A, C->A, D->B, E->B, E->C, F->C, G->F, D->F) จากนั้นให้บันทึกค่าใหม่ลงไปในเซลล์รับตัวแปรใน Column B, C, E, และ F ของแต่ละ Module ให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างผลิตภัณฑ์ จะพบว่าพื้นที่ตารางใน Column H:P จะคำนวณจำนวนวัสดุที่ต้องการและกำหนดเวลาที่ต้องเริ่มสั่งผลิตเพื่อให้ได้สินค้าหรือวัสดุเสร็จตามกำหนดให้ทันที
หลักการคำนวณที่ใช้ เกิดจากการหาตำแหน่งเลขที่ row สุดท้ายของแต่ละ Module (Last Row of Module) ใน Column D ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงใช้เลขเลขที่ row สุดท้ายของแต่ละ Module สำหรับดึงตัวเลขการสั่งผลิตจาก Module ของ Parent ไปใช้ในการสั่งผลิตของ Module ที่เป็น Child
เพื่อทำให้เห็นลำดับการคำนวณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอให้ดู Row 14 ซึ่งเป็นการสั่งผลิตวัสดุ E ให้กับวัสดุ C พอคุณบันทึกชื่อวัสดุ C ลงไปในเซลล์ C14 จะพบว่าในเซลล์ D14 คำนวณหาเลข 9 มาให้ ซึ่งเกิดจากสูตร =MATCH(C14,B$1:B$1001,0)+1 โดยสูตร Match จะนำชื่อ Parent C ไปเทียบหาตำแหน่งจากพื้นที่ B1:B1001 พบว่าชื่อ C อยู่ในลำดับที่ 8 จากนั้นนำไปบวก 1 ให้กลายเป็นเลขที่ Row 9 ซึ่งเป็นตำแหน่งเลขที่ row สุดท้ายของ Module (Last Row of Module) ที่มี Child ชื่อ C
พอได้เลข 9 ในเซลล์ D14 แล้ว จากนั้นจึงใช้สูตรดึงตัวเลข 150 จากเซลล์ N9 ส่งต่อมาใช้ที่เซลล์ N14 โดยใช้สูตร =INDIRECT(ADDRESS($D14,COLUMN()))*$E14 โดยในการผลิตวัสดุ C จำนวน 1 หน่วย ต้องอาศัยวัสดุ E จำนวน 2 หน่วย (เซลล์ E14 = 2) จึงต้องสั่งผลิต E จำนวน 300 หน่วย (=150×2) ส่วนวัสดุ E นั้นกว่าจะผลิตเสร็จก็ต้องใช้ระยะเวลา (LT) 2 วัน ทำให้ต้องสั่งผลิตหรือจัดหาวัสดุ E ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 5 จึงจะพร้อมต่อการนำไปใช้ผลิตต่อในวันที่ 7
ส่วนของสูตร =INDIRECT(ADDRESS($D14,COLUMN())) ในเซลล์ N14 ช่วยดึงค่ามาจากเซลล์ที่ทราบตำแหน่ง Row และ Column โดยที่ D14 เป็นเลขที่ Row ส่วนสูตร Column() จะหาเลขที่ Column N ณ ตำแหน่งของเซลล์สูตร จึงทำให้เกิดสูตร Address(9,14) คืนค่าออกมาเป็นตำแหน่งเซลล์ $N$9 จากนั้นสูตร Indirect(“$N$9”) จึงดึงค่าจากเซลล์ N9 มาให้ในที่สุด
ตัวอย่างจากชีทชื่อ DynamicCompound นี้เป็นการคำนวณอย่างง่ายเพื่อแสดงหัวใจของการเชื่อมโยงตัวเลขการสั่งผลิต ณ กำหนดเวลาที่ต้องการของแต่ละ Module เข้าด้วยกัน แต่ในการผลิตจริงยังต้องคำนึงถึงตัวเลขสินค้าต้นงวดปลายงวดและตัวเลขอีกมากมายที่เป็นเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการผลิตแต่ละครั้ง จึงขอให้ใช้ Module ที่สร้างไว้ในชีทชื่อ MRPModule แทน
วิธีนำ Module ไปใช้ก็ใช้วิธี Copy ไป Paste ซ้ำตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกัน โดยโครงสร้างตารางคำนวณที่สร้างขึ้นแบบสมบูรณ์นี้ Child แต่ละตัว สามารถสั่งผลิตเป็นวัสดุให้ Parent ได้ 3 ตัว (เซลล์ D20:D22) ทำให้ไม่จำเป็นต้องเตรียม Module ของ Child ซ้ำกันเช่นตัวอย่างที่ผ่านมา
จากนั้นเมื่อนำตัวอย่างการทำ MRP จากหนังสือ ระบบการวางแผนและควบคุมการผลิต โดยรศ.พิภพ ลลิตาภรณ์ สำนักพิมพ์ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หน้า 136 มาวางแผนความต้องการวัสดุ จะเกิดเป็น Compound Module ที่คำนวณร่วมกันตามตัวอย่างที่เปิดให้ Download ได้จาก www.ExcelExpertTraining.com/extreme/files/database/CompoundModuleMRP(Ans).xls ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใช้ประกอบการอบรมหลักสูตรการประยุกต์ใช้ Excel สำหรับวางแผนความต้องการวัสดุและจัดตารางการผลิต
ตัวอย่างในแฟ้ม CompoundModuleMRP(Ans).xls นอกเหนือจากแสดงการใช้ Compound Module แบบซับซ้อนโดยนำโครงสร้างผลิตภัณฑ์ 2 โครงสร้างมาใช้ร่วมกันแล้ว ยังแสดงวิธีการสร้างตารางฐานข้อมูลเพื่อเก็บค่าตัวแปร แล้วใช้สูตรดึงค่าจากตารางตัวแปรไปยังเซลล์รับค่าใน Module ให้เองอีกด้วยเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกรอกข้อมูลและลดโอกาสผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิดช่อง จากนั้นเมื่อได้ผลลัพธ์ที่คำนวณใน Compound Module เสร็จเรียบร้อยก็ยังแสดงวิธีใช้สูตรดึงผลลัพธ์ไปสรุปเพื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการผลิตที่เกิดขึ้นจริงที่อาจแตกต่างจากแผนการผลิตที่วางไว้