เป็นครูอาจารย์นั้น เป็นง่าย แต่จะสอนให้ได้ดีนั้น ทำได้ยาก..อย่างยิ่ง
มีหลายๆคนถามมาบ่อยทีเดียวว่า กำลังอยากจะสอน Excel ต้องเตรียมอะไรยังไง บางคนบอกเสียอีกว่า อยากจะสอน Excel ขั้น advance เลยแหละ จะต้องไปค้นคว้า เตรียมตัวอย่างกันยังไง
แค่ขึ้นสอนครั้งสองครั้ง เราก็ได้ชื่อว่าเป็นครูอาจารย์แล้ว แต่จะสอนได้นานแค่ไหนนี่ซิ เป็นผลจากการสอน เราต้องสอนได้ดี เตรียมตัวมาดี ค้นคว้าศึกษามาดี พอเจอคำถามยากๆของลูกศิษย์ เราต้องรู้ว่าจะตอบอย่างไร แต่ถ้าสอนไม่ดี จะสอนได้เพียงครั้งสองครั้ง แล้วไม่มีใครมาเรียนกับเราอีก
👉 แหล่งค้นคว้า
10 กว่าปีที่ผ่านมา Excel พัฒนาต่างไปจากเดิมมากทีเดียว ทำให้หนังสือ Excel รุ่นใหม่หนากว่าหนังสือรุ่นก่อนๆมาก นับว่าเป็นความโชคดีของผม เพราะเริ่มต้นทำงานแล้วใช้ Excel มาตั้งแต่ Excel version แรกๆ เริ่มจาก Excel version 2 มีคู่มือหนาไม่กี่หน้า พอเกิด version รุ่นใหม่ๆ มีคำสั่งเมนูเพิ่มเข้ามา ก็ศึกษาเฉพาะวิธีการใช้งานส่วนเพิ่มนั้นก็พอ ไม่ได้เหนื่อยยากอะไรนัก น่าสงสารคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งหันมาสนใจ Excel อยากสอน Excel นี่มากๆนะครับ ต้องอ่านตำราหนาเป็นพันๆหน้า
แค่ตำราที่มีอยู่ พอจับมาตั้งกองกันจะสูงท่วมหัวทีเดียว แต่ยุคนี้โชคดีกว่ายุดสิบกว่าปีนั้นมาก เราสามารถศึกษาค้นคว้าวิธีใช้ Excel ได้จาก internet ให้ความรู้แปลกๆที่ไม่มีในตำราเยอะแยะ แถมมีตัวอย่างให้นำไปศึกษา และยังมี link นับร้อยแห่ง พาไปดูวิธีใช้ Excel ต่างๆนานารอบโลก
ความรู้แปลกใหม่ที่พบเห็นเป็นครั้งแรก บางคนถือเป็นความลับไม่บอกใคร กลัวว่าคนอื่นจะตามทัน สมัยผมยังเด็กก็หวงความรู้ไม่บอกใครเหมือนกัน แต่พอมาเป็นวิทยากร ตั้งหลักกับตัวเองว่า นี่เราเป็นครูอาจารย์แล้วนะ ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าครูให้ได้ ตั้งใจว่าตนจะไม่มีความลับอะไรอีกแล้ว ความรู้ใดๆที่มีอยู่จะเปิดเผย ถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบัง
สิ่งไม่น่าเชื่อก็บังเกิดขึ้น นั่นคือมีความรู้อีกมากมายหลั่งไหลมาให้ผมศึกษา มากเสียจนต้องเก็บรอไว้ใช้ทีหลัง ปัญหาเก่าๆที่คิดไม่ออกกลับได้คำตอบ ได้แนวทางแก้ เกิดแนวทางใหม่ๆซึ่งไม่มีในตำรา นี่กระมังเป็นผลมาจากการให้ หากเราได้ให้ความรู้แค่ผู้อื่นอย่างไม่ปิดบัง เราไม่ต้องรอเรียกร้องขอสิ่งตอบแทนหรอก เราจะได้รับผลจากการให้นั้นทันที
👉 ประเภทของหลักสูตร
อย่างคำเรียกหลักสูตรว่า advance หรือขั้นสูงนี่ก็เหมือนกัน ไม่ควรจะกำหนดเพดานความรู้ไว้กับคำว่าขั้นสูงหรอกครับ Excel มีขั้นสูง และมีขั้นสูงขึ้นไปอีกไม่รู้จบ สักแต่ว่ามนุษย์จะหาทางดัดแปลงประยุกต์ใช้ Excel ในงานของตนได้เพียงใด ถ้ากำหนดหลักสูตรไว้เป็นขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง แล้วต่อๆไปเมื่อมีเนื้อหาที่ใหม่และลึกซึ้งกว่าเดิมจะทำยังไง ไม่เหมาะหรอกที่จะจำกัดขีดขั้นของหลักสูตรไว้แบบนี้
ยังมีวิธีแบ่งความรู้ใน Excel อีกแบบ คือแบ่งเป็น ศาสตร์ กับ ศิลป์
ถ้าอยากจะสอนศาสตร์ของ Excel ก็ไม่ค่อยยากนัก ให้เรียนรู้วิธีใช้เมนู คำสั่ง สูตร และรู้จักองค์ประกอบหน้าตาของ Excel ให้ดี รู้ว่าอะไรคืออะไร เรียกใช้ได้จากตรงไหน และใช้ยังไง ไม่จำเป็นต้องรู้ให้หมดทุกคำสั่งหรอกครับ ขอให้รู้จักใช้เฉพาะสิ่งซึ่งใช้งานเป็นประจำ หากจะจัดอบรมเพียงแค่แนะนำศาสตร์ของ Excel จะจัดสอนได้ 3 วัน 7 วันยังไม่จบเลยครับ หลักสูตรอบรม Excel ทั่วไป ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้ บางแห่งจะจัดแบ่งการอบรมไล่จากเมนู File ถึง เมนู Format ว่าเป็นขั้นต้นขั้นกลาง พอถึงเมนู Tools และ Data จะเป็นหลักสูตรขั้นสูง
ส่วนการอบรมในกลุ่มที่เป็นศิลปะการประยุกต์ใช้ Excel จะยากกว่ามาก เพราะต้องช่ำชองกับศาสตร์มาก่อน แล้วสามารถนำศาสตร์ต่างๆมาใช้งานร่วมกัน ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรสอน ซึ่งคนอื่นๆเขาชอบสอนกัน เพราะหลายๆคำสั่งของ Excel สามารถให้ทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักเลือกใช้ รู้ความแตกต่าง สามารถจัดลำดับการนำเครื่องมือต่างๆมาใช้เป็นขั้นเป็นตอน ส่วนที่ยากที่สุด คือ การมองปัญหาของงานให้ออก แล้วประยุกต์ใช้ Excel ให้เป็น Excel ไม่ได้มีแค่การสร้างสูตรบวกลบคูณหารเพื่อนำมาใช้สร้างงาน แต่ Excel มีอะไรต่ออะไรซึ่งนำมาใช้งานร่วมกันได้อีกมาก
👉 อย่าใจร้อน อยาก..
เมื่อเตรียมตัวเป็นวิทยากรต้องอย่าใจร้อนนะครับ ไม่ได้ห่วงว่าเราจะใจร้อนเวลาสอนหรอก แต่ใจร้อนอยากสอนต่างหาก อย่าข้ามขั้นไปสอนในสิ่งที่ตนไม่เชี่ยวชาญเป็นอันขาด ถ้าเจอคำถามที่ตนเองไม่รู้ ต้องตอบว่าไม่รู้ ห้ามเดา ห้ามทำเป็นรู้แล้วตอบอ้อมไปอ้อมมา แค่มองตาฟังน้ำเสียงก็จับผิดได้แล้วว่าไม่รู้จริง
อยากจะจัดอบรมเรื่องอะไร ขั้นใด ขอให้มองดูที่ตนเองก่อน ดูว่าเรารู้อะไรบ้าง ที่ว่ารู้นั้น รู้จริงๆแค่ไหน รู้มาจากการอ่านตำราหรือไม่ เวลาตอบต้องเปิดตำราตอบด้วยหรือ
อยากจะสอนอะไรก็ตาม ขอให้สอนในสิ่งที่ตนรู้จริง รู้แค่ไหนก็สอนแค่นั้น พอสอนไปเรื่อยๆ เราจะมีเวลาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม บางทีลูกศิษย์นั่นแหละจะเป็นครู ชี้ประเด็นให้เรากลับไปคิด พอเกิดแนวทางใหม่ๆ ได้ความรู้ลึกซึ้งขึ้น จึงค่อยนำความรู้เหล่านั้นมาสอน มาจัดอบรมเป็นขั้นที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ขออย่าใจร้อนอยากสอนนะครับ ต้องใช้เวลาพอควร สร้างสมความรู้และประสบการณ์ ถือทางสายกลางแล้วเราจะสุขใจ ไม่ได้ทำอะไรที่เกินตน หรือเป็นภาระทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ว่าจะสอนอย่างไรดี
สิ่งที่น่าห่วงเหลือเกินก็คือ ตัวอาจารย์กับลูกศิษย์รู้จัก Excel พอๆกัน อาจารย์บางคนใช้เวลาอ่านหนังสือ Excel เพียงแค่ไม่กี่เดือน บางคนเข้าอบรม Excel แค่ไม่กี่ครั้ง ก็กลับมาเปิดหลักสูตรเปิดสอนเสียแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้เราต้องฝึกฝนด้วยตนเองเยอะๆ ลองสร้างงานเอง ฝึกให้รู้จักว่าพลาดยังไงได้บ้าง อย่าเชื่อตำรามากไปเพราะตำราบางเล่มก็ลอกผิดๆมาเหมือนกัน ขอให้ลองทำเอง คิดเอง หาเหตุผลมาประกอบการใช้งานของตน ถ้าเรามีประสบการณ์ใช้ Excel ไม่กี่เดือน ขอแนะนำให้เริ่มสอนหลักสูตรง่ายๆ สอนวิธีใช้ให้กับคนที่ไม่เป็น อย่าริข้ามไปหลักสูตรยากๆเป็นอันขาด
👉 เอกสารประกอบการอบรม
เอกสารและตัวอย่างประกอบการสอนก็เช่นกัน พยายามสร้างขึ้นเองกับมือ อย่าลอก อย่าแปลคำต่อคำ อย่าตัดโน่นมาต่อนี่ อย่าทำสำเนาเอาของคนอื่นไปแจกแล้วบอกว่านี่เป็นของตนเอง จริงอยู่ที่ใครๆก็ใช้ Excel ตัวเดียวกัน มีวิธีใช้งานเหมือนๆกัน ความรู้ที่เล่าเรียน ศึกษา อ่าน แปล จะเหมือนกันก็เหมือนได้ แต่วิธีการถ่ายทอด วิธีการจับประเด็น วิธีการลำดับเนื้อหานั้น เป็นแนวทางเฉพาะตัวของวิทยากรแต่ละคน ขืนลอกเลียนคนอื่นเขาแล้วถูกจับได้..หมดกันเลยนะครับ
ขอให้ใช้เวลาทีละเล็กทีละน้อย สร้างตำรับตำราตัวอย่างของตนเอง ขอให้ทำทีละขั้น ความพยายามทุกอย่างของตนจะสร้างความภาคภูมิใจในที่สุด ช้าๆหน่อยดีกว่า
ถ้าจนแล้วจนรอดคิดไม่ออก จะต้องเอาตัวอย่างเอาเนื้อหาของคนอื่นไปใช้ ขอให้เอ่ยปากขอ คนอื่นที่เขาอยากจะให้ความรู้นั้น เขาไม่หวงกันหรอกครับ เราต่างหากที่ปากแข็งมือแข็งไม่ยอมขอ แถมบางทีแอบว่าคนอื่นๆว่าหวงเสียอีก นี่แหละแปลกเพราะ ตนเองน่าจะลองขอก่อน ส่วนเนื้อหาบางแห่งที่เปิดเผยสู่สาธารณะอยู่แล้ว มักจะกำหนดว่าให้นำไปใช้ได้ แต่ต้องนำไปทั้งหน้า ห้ามเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่ง และเมื่อนำไปใช้ต้องบอกด้วยว่านำมาจากแหล่งใด เราก็ทำตามข้อกำหนดนั้น
คิดถึงใจเขาใจเรา หนังสือของเขา อุตส่าห์เขียนขึ้นมาขาย กลับถูกลอก ถูกตัดต่อ ที่แย่ที่สุดคือเอาไปอัดสำเนาทั้งเล่มแจกฟรี อย่างนี้เขาก็ขายของไม่ได้ หนังสือเขาทำมาไว้ขาย ก็ต้องซื้อของเขา สิ่งที่เราทำนั้น ไม่ควรส่งผลร้ายต่อคนอื่น หากจำเป็นจริงๆ เช่น เราเองก็ไม่มีเงินซื้อ ถ้าเอาของเขามาใช้ ก็ควรช่วยโฆษณาให้เขาด้วย พยายามหาทางทดแทนให้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
👉 โปรแกรมตัวอย่าง
นอกจากเอกสารตำราประกอบการอบรมแล้ว ยังมีตัวอย่างโปรแกรมซึ่งใช้คู่กับตำรา เราควรสร้างตัวอย่างให้ตรงกับเนื้อหาที่จะสอน ไม่จำเป็นต้องสร้างให้ถูกต้องก็ได้ แต่เมื่ออบรมจะให้ผู้เข้าอบรมช่วยกันแก้ไขอย่างนี้ก็มี ตัวอย่างง่ายๆอาจใช้สำหรับหัวข้อเดียว ตัวอย่างยากขึ้นหน่อยใช้อธิบายหลากหลายหัวข้อ
เราต้องจัดเตรียมตัวอย่างพร้อมให้ใช้งานได้เลย อย่าใช้เวลาอบรมซึ่งมีจำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไปกับการให้ผู้เข้าอบรมฝึกบันทึกค่าลงไปในเซลล์ หรือฝึกตีกรอบจัดรูปแบบ ถ้าโจทย์ยากๆยาวๆแล้วทั้งห้องต้องลอกตามอาจารย์ไปเรื่อยๆ จะมีคนพลาด คนตามไม่ทัน แล้วต้องเสียเวลารอกันอีก
ควรจัดแบ่งตัวอย่างเป็นเรื่องสั้นๆ sheet หนึ่งเรื่องหนึ่ง และเห็นชัดได้ครบบนหน้าจอ แม้เนื้อหาเป็นเรื่องยากๆยาวๆก็ตาม จะต้องหาทางแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ เผื่อไว้ว่า ถ้าผู้เข้าอบรมทำตัวอย่างผิดพลาดไม่สมบูรณ์ แทนที่จะปล่อยให้ผิดเป็นดินพอกหางหมู เราสามารถตัดตอนนำหัวข้อต่อไปมาเริ่มต้นได้ทันที จะช่วยให้ใช้เวลาอบรมต่อเนื่องไปดีขึ้น ไม่ต้องคอยรอแก้ตัวอย่างให้เสร็จทุกคน
👉 ทำสัญญากับผู้เข้าอบรม
เวลาเริ่มอบรมแต่ละหัวข้อ ต้องเตือนผู้เข้าอบรมก่อนว่า อย่ารีบจด แต่ให้ลองทำตามวิทยากรไปก่อน อยากให้ทดลองทำกับมือหลายๆรอบ พอตนเองเข้าใจแล้วจึงค่อยเรียบเรียงจดตามความเข้าใจ หากในเอกสารประกอบการอบรมมีเนื้อหาอธิบายอยู่แล้ว ไม่ต้องจดก็ได้ วิธีการบางอย่างเราจะสอนให้ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำได้ติดตา กลืนเข้าไปในสายเลือดเลย อย่างนี้ไม่ต้องเสียเวลาจดหรอก
ผู้เข้าอบรมมักชอบจด แต่ไม่ชอบอ่านที่ตนเองจดเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จดไปอย่างนั้นแหละครับ พออบรมเสร็จแล้วก็แล้วไป เอาตำรากลับไปหนุนนอน!!
ผู้เข้าอบรมเองยังมีหลายระดับ บางคนนั่งเฉยไม่ยอมหยิบ mouse จับแป้นพิมพ์ เอาแต่ดูวิทยากรไป ยิ้มไป พอเข้าไปถามว่า ติดปัญหาอะไรหรือครับ จึงทราบว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง แอบมาเรียน แล้วชี้ซ้ายชี้ขวาว่า น้องๆที่บริษัทมาเรียน ส่วนตนขอดูเฉยๆ
บางคนนั่งนิ่งไม่ยอมทำแบบฝึกหัดตาม แต่ทำหน้าเบ้ เพราะไม่รู้จะทำตามยังไง บางคนเอาแต่ก้มหน้าก้มตาดูหน้าจอของตน เพราะกำลังแกะโปรแกรมของอาจารย์ นานๆทีจะเงยหน้ามามองดูเสียทีว่า กำลังอบรมถึงเรื่องใด
เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้เข้าอบรมได้ถูกต้องตรงตามความต้องการ ควรทำความตกลงกันก่อนว่า ขอให้ยกมือเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ถ้าติดอะไร ขอให้ยกมือทันทีนะครับ เราจะได้หาทางแก้ไขกัน อย่ารอ อย่าเกรงใจรอให้สอนจบหัวข้อก่อน เพราะถ้ายกมือทีหลังเมื่อสอนผ่านไปแล้ว จะต้องเสียเวลาทวนกันตัวต่อตัว ทำให้ผู้เข้าอบรมคนอื่นต้องรอ
เรื่องรอนี่เป็นประเด็นสำคัญมากๆในการฝึกใช้ตัวอย่างโปรแกรม เพราะถ้าเรียงเนื้อหาไว้จากง่ายไปยาก หากผู้เข้าอบรมมาสายตอนเช้า หรือพักแล้วหายตัวไปไม่เข้าห้องตามกำหนดเวลา หากจัดอบรมต่อไปแล้วเข้ามาทีหลัง จะปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้เลย ดังนั้นในการอบรมทุกครั้งต้องขอให้ผู้เข้าอบรมทุกท่านตรงต่อเวลาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเช้าวันแรกอาจมีคนสายบ้าง เราก็ควรจัดเตรียมเนื้อหาช่วงเช้าวันแรกนั้น เผื่อไว้สำหรับกรณีเจอคนมาสายไว้ด้วย
👉 รีบให้พื้นฐาน Excel
ช่วงแรกสุดของการอบรม ต้องหาทางสร้างพื้นฐานให้ผู้เข้าอบรม สามารถใช้ Excel ได้พอๆกัน ให้ได้เร็วที่สุด ถ้ามีเวลาพอควรหาทางทดสอบแต่ละคน เพื่อรู้ความสามารถก่อนว่า พอจะไปด้วยกันได้ไหม ถ้าบางคนขาดพื้นฐานต่ำกว่าที่กำหนด ควรรีบเอ่ยปากชี้แจงให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนว่า กลุ่มนี้ต้องอบรมกันไปช้าๆเสียแล้ว อาจไม่สามารถสอนได้ครบตามหมายกำหนดการที่วางไว้
เครื่องมือซึ่งน่าสอนให้ใช้ให้เป็นให้ได้ในเวลา 15-30 นาทีแรก เช่น วิธี Pointing, Range Name, วิธีใช้ปุ่ม F2 F3 F4 F5 F9, และชี้แจงคำศัพท์พื้นฐานที่วิทยากรชอบใช้ ทุกคนฟังแล้วจะได้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไร ให้ทำยังไงต่อไป
เมนู Excel ที่ใช้งานควรใช้เมนูอังกฤษเหมือนกันทุกเครื่อง เมื่อพูดถึงเมนูใด หรือใช้ภาษาอังกฤษเมื่อใด ขอให้พูดให้ชัดเจนถูกต้อง โดยเฉพาะคำที่ต้องใช้พูดกันเป็นประจำ เช่น คลิก เป็นต้น อย่าเผลอพูดออกมาเป็น “คิก” นะครับ และอย่าใช้ภาษาไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกรอบสองรอบ ภาษาพูดก็ขอให้ใช้ภาษาพูด ไม่ควรติดนิสัยเอาภาษาเขียนมาพูด เพราะฟังแล้วเยิ่นเย้อ ฟังตั้งนานกว่าจะได้ใจความ
👉 ทำใจไว้หน่อย
เวลาไปสอนแต่ละครั้ง ตั้งใจว่าจะไปให้ความรู้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตนทำได้ ไม่ต้องห่วงว่า ผู้เข้าอบรมจะประเมินผลออกมาแย่หรือไม่ เพราะเราตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่ทุกคนในห้องฝึกอบรมจะมีความเห็นเหมือนๆกัน เราไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทุกคน บางคนอยากให้สอนช้าลง บางคนเป็นอยู่แล้วก็บอกว่าเราสอนช้าไป อยากให้เร่งสอน ข้ามไปเรื่องที่ตนอยากรู้
ก่อนจะปิดการอบรมแต่ละครั้ง ลองหาทางให้ผู้เข้าอบรมคิดดูซิว่า ที่ว่าสอนเร็วไปนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นสอนช้าๆ แต่ไม่ได้เรียนหลายๆอย่าง จะเสียดายไหม บางคนอยากให้จัดอบรมหลายวันขึ้น เพื่อมีเวลาทดลองทำเองได้นานขึ้น เราก็น่าจะขอให้แนะด้วยว่า จะยืดระยะเวลาเป็นกี่วันดี ยืดไปแล้วราคาค่าอบรมห้ามเพิ่มตาม ยืดไปแล้วหัวหน้าที่ที่ทำงานจะยอมส่งมาเรียนหรือไม่ จะได้ประเมินผลรอบคอบยิ่งขึ้น
ตอนช่วงแรกๆที่เริ่มเป็นวิทยากรได้อ่านใบประเมินผลแล้วพบว่า แทบทุกคนให้เกรดเราดีมาก จะดีใจมาก แต่พอพลิกไปอ่านใบสุดท้าย มีแค่คนหนึ่งให้เกรดการสอนต่ำ แถมให้ความเห็นเชิงต่อว่า ความดีใจเมื่อกี้จะหายลับไปเลย กลับรู้สึกตกใจและสงสัยว่า ทำอะไรผิดไปนะ เขาจึงไม่พอใจอย่างนี้.. พอสอนมากขึ้นๆจะพบว่า ในการอบรมแต่ละครั้ง ผู้เข้าอบรมบางคนจะมีนิสัยให้คะแนนลบตลอดเสมอเลยแหละ บางที 20 คนเขาประเมินออกมาให้เกรด A ดีมาก แต่มีเขาคนนี้แหละจะให้เกรด C แตกต่างจากคนส่วนมากเสมอ
ขอให้ใช้ใบประเมินผลสำหรับเป็นกระจกส่องดูตัวเราเองว่า สอนเป็นยังไง จะได้มุมมองแตกต่างไป และนำไปปรับปรุงการสอนครั้งต่อๆไป อย่าดีใจ อย่าเสียใจ ให้ทำใจเฉยๆไว้ดีกว่า
👉 อย่ารีบตอบว่า ทำไม่ได้
Excel มีทั้งสูตรและเมนูคำสั่งมากมายสารพัด เราต้องอย่าอวดตัวทีเดียวนะว่าเก่งไปหมดทุกเรื่อง แค่รู้พอเอาตัวรอด และใช้งานได้ไม่ติดขัดก็พอแล้ว ถ้าเจอคำถามที่ไม่รู้คำตอบ อย่าตอบว่า Excel ทำไม่ได้ทีเดียวล่ะครับ ขอให้ตอบว่าไม่ทราบไปก่อน แล้วจะพยายามหาคำตอบให้ทีหลัง หรือไม่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้จริงๆ ให้ตอบว่า เท่าที่ทราบคิดว่า Excel ทำไม่ได้นะครับ อาจมีคนอื่นที่ทำได้ก็ได้
👉 อย่ารีบตอบว่า ทำได้
ผู้เข้าอบรมมักเตรียมปัญหามาถามไว้เป็นชุด บางคนถูกหัวหน้าส่งมาเข้าอบรมพร้อมกับฝากคำถามให้มาหาคำตอบนับสิบทีเดียว บางคนนำ file ตัวอย่าง ต้องการให้เราหาคำตอบแบบพร้อมเสร็จให้เลย
👉 ขอให้พึงระลึกว่า วิธีตอบสำคัญกว่าคำตอบ
พยายามหาทางให้ผู้ถามได้คิดตาม หาทางออกด้วยตัวเอง พยายามแนะแนวทางที่เขาจะพึ่งตัวเองได้ในอนาคต อย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบแล้วกันไป เพราะหากลูกศิษย์เจอปัญหาเดิมอีก แล้วต้องกลับมาพึ่งเราทุกครั้งไป อย่างนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอย่างถาวร