เรื่องเงินๆทองๆคู่กับสูตรอะไร

ถ้าเจอคำถามแบบนี้ตอนสอบสัมภาษณ์จะตอบว่าสูตรอะไรครับ

วันนี้ในไลน์กลุ่ม Excel Expert Group มีคำถามเกี่ยวกับการคำนวณเงินผ่อน ซึ่งต้องคำนวณแยกส่วนของการคืนเงินต้นกับดอกเบี้ยในแต่ละงวด

สมมติว่ายืมเงินมา 100 บาท ต้องผ่อน 36 เดือนเท่าๆกัน จะหายอดเงินผ่อนได้เท่าไร เอาง่ายๆว่าไม่คิดดอกเบี้ย

ถ้าใช้สูตร =100/36 ได้ยอดเงินผ่อนเดือนละ 2.77777777777778 บาท จะส่งใบทวงหนี้บอกให้ลูกค้าคืนเงินกี่บาท

2.77777777777778
2.78 ต้องใช้สูตร Round(ตัวเลข,2)
2.77 ต้องใช้สูตร Trunc(ตัวเลข,2)
2.75 ต้องใช้สูตร Floor(ตัวเลข,0.25)
2.50 ต้องใช้สูตร Floor(ตัวเลข,0.50)
2.00 ต้องใช้สูตร Floor(ตัวเลข,1.0)

จะเลือกใช้สูตรอะไรนั้นก็ต้องใช้ไปตลอด ไม่ใช่ว่าแล้วแต่วันนี้จะปัดหรือตัดเศษแบบไหนก็เปลี่ยนใจไปเรื่อยๆ

สมมติว่าเลือกใช้ 2.77 ดังนั้นสูตรคำนวณยอดเงินต้นคงเหลือในงวดแรก =100-2.77 แล้วทะยอดลดลงไปงวดละ 2.77 ไปเรื่อยๆแบบนี้ใช่ไหม … อาจจะผิดได้ครับ เพราะในกรณีอื่น Excel อาจคำนวณได้เศษเกินกว่า 2 หลักก็ได้

ทางที่ดีกว่าควรสร้างสูตร =Round(ยอดเงินต้นคงเหลือ – ยอดคืนเงินต้น, 2) เพื่อทำให้ยอดคงเหลือเป็นทศนิยม 2 หลักจริงๆ ในการคำนวณงวดแรกจนถึงงวดก่อนสุดท้าย

ส่วนในการคืนเงินต้นงวดสุดท้าย ต้องคำนวณพิเศษหน่อย โดยต้องหายอดรวมของการคืนเงินต้นทั้ง 35 เดือนว่าเป็นเท่าไร จากนั้นส่วนที่เหลือจึงเป็นการจ่ายคืนงวดสุดท้าย 3.05 บาท

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือตอนจ่ายคืนครบทุกงวดแล้ว ต้องคำนวณว่าเงินต้นเหลือ =0 ด้วย อย่าคิดง่ายๆแค่เอา 100 – ยอดรวมของการจ่ายคืนเงินต้น เพราะอาจเห็นตัวเลขคงเหลือ =0 แต่ Excel ยังถือว่าไม่เท่ากับ 0 ก็ได้ เพราะติดเศษทศนิยมมานิดๆ

ต้องใช้สูตร =Round(Abs(เงินต้น-ยอดรวมการจ่ายคืนทุกงวด),2) จึงจะมั่นใจว่า =0 จริงๆ ลูกหนี้จะได้หมดหนี้จริงๆ

Abs(เงินต้น-ยอดรวมการจ่ายคืนทุกงวด) ใช้เพื่อปรับค่าให้เป็นบวก เพราะบางกรณียอดรวมอาจมากกว่าเงินต้น ทำให้มียอดติดลบ จากนั้นจึงใช้สูตร Round เพื่อตัดเศษให้เหลือแค่ 2 หลัก (ซึ่งถ้าพบว่ายังไม่เท่ากับ 0 ย่อมแสดงว่าการคำนวณที่ผ่านมาต้องผิดที่ใดที่หนึ่ง)

ในกรณีที่คิดดอกเบี้ยก็ต้องใช้หลักคิดแบบเดียวกันว่าจะปัดหรือตัดเศษแบบไหน ซึ่งหลักที่ดีคือปัดลงหรือตัดเศษทิ้งจะได้ไม่เอาเปรียบลูกค้า

ที่แย่ที่สุดคือไม่ได้ใช้สูตรอะไรมาช่วยจัดการกับเศษทศนิยมเลย แต่หันไปใช้ Format แสดงทศนิยม 2 หลัก

เรื่องนี้เคยเขียนถึงมาหลายครั้งแล้ว เศษเงินไม่กี่สตางค์เนี่ย ห้ามผิดพลาดนะครับ ลูกค้าเอาใบเสร็จมาบวกกันแล้วได้ยอดเกิน ถูกเอาไปประจานหรือแจ้งความให้เห็นบ่อยๆ