ผู้ที่เคยใช้ Excel สร้างตารางคำนวณงบการเงินมาก่อน ต้องทราบดีว่ากว่าจะคำนวณหายอดกำไรขาดทุนมาได้ต้องคำนวณผ่านยอดรายรับหักต้นทุนขายเป็นกำไรขั้นต้น จากนั้นจึงนำยอดตัวเลขกำไรขั้นต้นไปหักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆและภาษีเพื่อเป็นยอดกำไรขาดทุน ซึ่งลักษณะของการคำนวณงบการเงินนี่แหละคือลักษณะของตารางคำนวณแบบ Module
ในงานด้านวางแผนการผลิตมีลักษณะการใช้ Excel แบบ Module เช่นกัน นับตั้งแต่รับคำสั่งซื้อแล้วต้องนำยอดไปเปรียบเทียบกับสินค้าคงคลังเพื่อคำนวณหายอดวัตถุดิบที่ต้องใช้ตามกำลังการผลิตที่มีอยู่ อีกทั้งต้องกำหนดเวลาให้กับตัวเลขการสั่งผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์ให้ได้อีกว่า ต้องการใช้ในปริมาณเท่าใดและต้องเริ่มสั่งของเมื่อใดเพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการผลิตแล้วได้สินค้าสำเร็จรูปตามเวลาที่กำหนด
Module คือ ตารางที่ประกอบด้วยเซลล์สูตรคำนวณหลายๆเซลล์ซึ่งคำนวณต่อเนื่องกันไปทีละขั้น โดยผลการคำนวณที่ได้ในแต่ละขั้นไม่จำเป็นต้องมีความหมายใดเลยก็ได้ แต่เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันหรือคำนวณต่อเนื่องกันแล้วต้องทำให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ |
จากคำจำกัดความของ Module ข้างต้น อาจทำให้คุณหลงภูมิใจว่าตนเองเคยสร้างตารางคำนวณแบบ Module นี้มานานแล้ว บทความนี้ไม่เห็นมีอะไรที่แปลกใหม่ต่างจากที่คุณรู้ดีอยู่แล้ว จึงขอให้ลองนึกดูว่าหากคุณสามารถใช้ Excel อย่างคอมพิวเตอร์ได้สมบูรณ์จริง คุณต้องหาทางนำ Module ที่สร้างไว้นั้นมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่จำเป็นต้องสร้าง Module ขึ้นใหม่ และด้วยตารางคำนวณแบบ Module ที่คุณมีเพียง Module เดียว จะทำอย่างไรที่จะนำตารางนั้นมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อหาทางใช้ Module เดียว ชีทเพียงชีทเดียว หรือแฟ้มเพียงแฟ้มเดียวกับงานคำนวณที่คุณคิดไม่ถึงว่าจะใช้ Excel ทำได้โดยไม่ต้องพึ่งการเขียนโปรแกรม Visual Basic มาช่วยแม้แต่น้อย
จุดประสงค์ของการสร้างตารางคำนวณแบบ Module
- เพื่อลดความซับซ้อนของสูตรคำนวณ จากเดิมที่ต้องสร้างสูตรยากๆยาวๆลงไปในเซลล์เพียงเซลล์เดียว เปลี่ยนไปเป็นการกระจายสูตรแยกให้ใช้เซลล์แต่ละเซลล์มีสูตรคำนวณทีละขั้นส่งผลการคำนวณต่อเนื่องกันไป ทำให้สูตรสั้นลง และทำให้คุณเข้าใจลำดับการคำนวณได้ง่ายขึ้น
- เพื่อทำให้คุณสามารถใช้ Excel กับการคำนวณงานที่มีหลายขั้นตอนหรือเกี่ยวข้องกับการทำงานที่มีลักษณะต่อเนื่องกัน
- เพื่อช่วยให้คุณสามารถลดขนาดแฟ้มและจำนวนตารางที่มีอยู่