DC19 – ตัวอย่างตารางคำนวณ Compound Module อย่างง่าย

Download ตัวอย่างได้จาก www.ExcelExpertTraining.com/extreme/files/database/CompoundModule.xls

image031

ตัวอย่างนี้อยู่ในชีทชื่อ SimpleCompound เป็นตารางคำนวณหาระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต กำหนดให้ผลิตสินค้า A, B, C, D (ProductName เซลล์ B4:B7) โดยสินค้าแต่ละชนิดต้องใช้เวลาในการผลิตต่างกันไป เช่น ในการผลิตสินค้า A เมื่อผ่านขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน (เซลล์  C4:F4) ต้องใช้เวลา 20 นาทีในการผลิตขั้นตอนที่ 1 จากนั้นต้องใช้เวลา 10 นาที ตามด้วย 30 นาที และตามด้วย 20 นาที ในขั้นตอนที่ 2, 3, 4 ตามลำดับจึงจะแล้วเสร็จ

ในกระบวนการผลิตสินค้า A, B, C, และ D นี้ หากกำหนดให้เริ่มต้นผลิตในเวลา 8 นาฬิกา จะผลิตเสร็จในเวลาใด ทั้งนี้กำหนดให้เลือกผลิตสินค้า A, D, C, B ก่อนหลังตามลำดับ (หรือในอนาคตอาจจัดลำดับการผลิตก่อนหลังต่างไปก็ได้) โดยหาทางให้ใช้ระยะเวลาผลิตที่น้อยที่สุด เมื่อผลิตสินค้าใดเสร็จให้ผลิตสินค้าชนิดต่อไปได้ทันที

ตารางด้านขวาที่เซลล์ L4:L6 ของรูปข้างต้นเป็นคำตอบที่ได้จากการคำนวณ กล่าวคือ เมื่อเริ่มผลิตในเวลา 8 นาฬิกา จะผลิตสินค้าทั้งหมดเสร็จในเวลา 11 นาฬิกา ถือเป็นระยะเวลาผลิตทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง

ปัญหาที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดขั้นตอนการผลิตในตัวอย่างนี้ก็คือ เราต้องหาทางสร้างตารางคำนวณที่สามารถจัดลำดับการผลิตก่อนหลังแบบใดก็ได้ อีกทั้งต้องหาทางสร้างสูตรให้กำหนดเวลาเริ่มผลิตในแต่ละขั้นตอนของสินค้าแต่ละตัว ต่อเนื่องกับเวลาผลิตเสร็จในขั้นตอนก่อนหน้า หรืออีกนัยหนึ่งห้ามสั่งผลิตสินค้าชนิดถัดไป หากสินค้าชนิดแรกยังอยู่ในกระบวนการผลิตขั้นตอนนั้นๆ ดังรูปต่อไปนี้

image033

ขอให้พิจารณาภาพ Gantt Chart ในลำดับการผลิตของ Process 2 จะพบว่าเมื่อสินค้า A ผลิตเสร็จในเวลา 8:30 นาฬิกา แต่ยังไม่สามารถนำสินค้า D มาผลิตต่อใน Process 2 ได้ทันที เพราะในขณะนั้นสินค้า D ยังอยู่ในกระบวนการผลิตของ Process 1 อยู่ ต้องรอจนถึงเวลา 8:40 นาฬิกา จึงเริ่มผลิตสินค้า D ใน Process 2 ต่อไปได้ แล้วต่อเมื่อสินค้า D ผลิตเสร็จใน Process 2 ก็สามารถนำสินค้า C และ B มาผลิตต่อใน Process 2 ได้ต่อเนื่องทันที

image035

Compound Module ในตัวอย่างนี้คือพื้นที่ตารางตั้งแต่เซลล์ B12:Z15 โดยกำหนดให้ใช้เซลล์ B12 ตรงหัวมุมซ้ายบนสุดสำหรับบันทึกชื่อสินค้าที่ต้องการลงไป จากนั้นเซลล์ C13:F13 จะดึงระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต (Time Consumed) จากตาราง Time Consumed Table ด้านบนของชีทลงมาใช้งาน โดยใช้สูตร =VLOOKUP($B12,TimeConsumedTbl,C12+1,0) จากนั้นเมื่อนำเวลาเริ่มผลิต 8:00 ในเซลล์ C10 มาบวกเพิ่มด้วยระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต ทำให้คำนวณหา Start Time และ Stop Time ในพื้นที่เซลล์ C14:F15

เซลล์สำคัญที่สุดที่ทำให้ Compound Module สามารถนำไปใช้งานต่อไปได้ในตารางชุดอื่นคือ เซลล์ D14 มีสูตร =MAX(D10,C15) โดยขอให้สังเกตว่าตำแหน่งเซลล์ D10 ที่กำหนดไว้ในสูตร MAX นี้เป็นตำแหน่งเซลล์ที่อยู่เหนือขอบเขตของตาราง Module (B12:Z15) เพื่อให้ใช้ตำแหน่งเซลล์ D10 ซึ่งไม่ได้กำหนดเครื่องหมาย $ ไว้หรืออีกนัยหนึ่งคือเซลล์ที่อยู่เหนือพื้นที่ตาราง Module ขึ้นไปอีก 2 เซลล์ สำหรับนำเวลา Stop Time ของ Module ก่อนหน้ามาเทียบกับเวลา Stop Time ของ Module ตัวเอง (D10 vs C15) ว่าให้เลือกนำเวลาที่มากที่สุดมาใช้เป็นกำหนดการเริ่มกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อไป

หลังจากสร้าง Module แรกในเซลล์ B12:Z15 เสร็จแล้ว เมื่อต้องการคำนวณหากำหนดการผลิตของสินค้าในลำดับถัดไป ก็เพียงแค่ Copy เซลล์ B12:Z15 ไป Paste ต่อกันลงไปแล้วเปลี่ยนชื่อสินค้าที่เซลล์หัวมุมซ้ายของแต่ละ Module ตามชื่อสินค้าที่ผลิตในแต่ละลำดับ ก็จะพบว่า Module ทุกชุดคำนวณร่วมกันได้ระยะเวลาและกำหนดการผลิตแต่ละขั้นตอนตามต้องการในทันที

image037

โปรดสังเกตว่า แต่ละ Module ถูกวางห่างกันโดยเว้นระยะ 1 row ระหว่างกันเสมอ ทั้งนี้เพื่อทำให้สูตร =MAX(D10,C15) จาก Module แรกเป็นสูตรดึงค่าจาก Stop Time ซึ่งเป็น row ล่างสุดของ Module ด้านบนมาใช้ต่อไปนั่นเอง