โดย อาจารย์สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
เราต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า การศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องมีความรู้ในการประกอบอาชีพ ความรู้ที่ต้องมีประดับไว้เพื่อให้รู้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน การขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเป็นสิ่งที่ควรกระทำไม่ต่างอะไรกับการเติมน้ำในแก้วที่ไม่มีวันเต็ม ยิ่งมีความรู้มากเท่าใดก็ยิ่งทำให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
การหาความรู้ที่ลงทุนน้อยที่สุดก็คือการติดตามข้อมูลข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อาจจะหาความรู้โดยการลงทุนซื้อหนังสือ ตำราวิชาการต่างๆ ที่ลงทุนไม่มากนักมาอ่านเพิ่มเติม หรือเข้ารับการอบรมสัมมนาจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่าย การจ่ายค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบธุรกิจที่มีพนักงานในองค์กรค่อนข้างมาก ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ให้แก่พนักงานให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันในท้องตลาดได้ การให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กรสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาตำรา หนังสือที่ให้ความรู้ในแต่ละด้านตามความจำเป็นของพนักงานแต่ละฝ่าย อาจจะใช้วิธีส่งพนักงานไปอบรมตามสถาบันของรัฐหรือเอกชนที่มีการจัดอบรมสัมมนากันอยู่เป็นประจำ หรืออาจจะเลือกให้พนักงานคนใดคนหนึ่งของกิจการที่มีประสบการณ์มีความรู้ความสามารถมาอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของตนเอง ซึ่งวิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก
วิธีหนึ่งที่จะให้ได้ผลดีแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงก็คือ การจ้างวิทยากรภายนอกเข้ามาอบรมความรู้ให้แก่พนักงานที่เราเรียกว่า In-house Training การว่าจ้างวิทยากรจากภายนอกเข้ามาอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่พนักงานนั้นอาจจะเป็นการว่าจ้างตัววิทยากรโดยตรงหรือบุคคลธรรมดาหรืออาจจะว่าจ้างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าจัดการอบรมภายในของกิจการก็ได้
ในกรณีที่มีการว่าจ้างวิทยากรโดยตรงซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเข้ามาเป็นวิทยากรที่ให้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ ที่พนักงานต้องการสะสมประสบการณ์ในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น
ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้ว่าจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างวิทยากรจะต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ปัญหาที่มักจะพบความผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ก็คือจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราใด จะสังเกตได้ว่าส่วนมากแล้วผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมักจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของจำนวนเงินที่จ่าย ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายหักอย่างไรจึงจะถูกต้อง จะต้องพิจารณาจากประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายค่าจ้างวิทยากรว่าเป็นเงินได้ประเภทใด เงินได้พึงประเมินที่จ่ายเป็นค่าวิทยากรให้กับบุคคลธรรมดาถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
“มาตรา 40 (2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว”
การจ่ายค่าจ้างให้กับวิทยากรที่นำความรู้ประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับพนักงานของกิจการ ถือเป็นการ”รับจ้างทำงานให้” เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินจะต้องนำเงินได้ที่จ่ายไปคำนวณภาษีที่ต้องหักเสมือนหนึ่งได้จ่ายทั้งปี หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาทและหักด้วยค่าลดหย่อนตามกฎหมายเงินได้พึงประเมินส่วนที่เหลือจะต้องนำไปคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งหากเงินได้พึงประเมินส่วนที่เหลือไม่เกิน 100,000 บาทแรกไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเนื่องจากกฎหมายยกเว้นภาษีให้ ส่วนที่เกิน 100,000 บาทจะต้องนำไปคำนวณหักภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 10 -37% ในแต่ละขั้นของเงินได้พึงประเมิน
ตัวอย่างเช่นจ่ายเงินค่าจ้างวิทยากรให้กับนายอนันต์เป็นครั้งแรกในปี 2548 เป็นเงิน 80,000 บาท จะคำนวณภาษีดังนี้
เงินได้ค่าวิทยากร – มาตรา 40(2) 80,000 บาท
หัก: ค่าใช้จ่ายเหมา 40% 32,000 บาท
คงเหลือ 48,000 บาท
หัก: ค่าลดหย่อน-คนโสด 30,000 บาท
เงินได้พึงประเมินสุทธิ 18,000 บาท
ดังนั้นเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินค่าวิทยากรให้กับนายอนันต์ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเนื่องจากเมื่อคำนวณภาษีแล้วเงินได้พึงประเมินสุทธิของนายอนันต์คงเหลืออยู่ 18,000 บาทไม่เกิน 100,000 บาทซึ่งกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้ให้ในส่วนของ 100,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี
แต่หากได้มีการว่าจ้างนายอนันต์มาเป็นวิทยากรอีกก็ให้นำเงินได้ที่จ่ายครั้งแรกรวมกับครั้งที่สองแล้วนำมาคำนวณภาษีอีกหากนำมาคำนวณตามตัวอย่างข้างต้นนี้แล้วปรากฏว่า เงินได้พึงประเมินสุทธิยังคงไม่เกิน 100,000 บาทแรกก็ยังไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และหากมีการว่าจ้างเป็นครั้งที่สามก็ให้เอาเงินได้ที่จ่ายตั้งแต่ครั้งแรกครั้งที่สองและครั้งที่สามมารวมกันนำไปคำนวณเหมือนกับวิธีดังกล่าวข้างต้น หากคำนวณแล้วไม่ต้องหักภาษีก็ยังไม่ต้องหักภาษี หากมีการจ้างครั้งต่อไปก็จะคำนวณลักษณะเดียวกันจนกว่าจะถึงเกณฑ์หักภาษีณ ที่จ่ายในปีภาษีนั้น
หากการจัดอบรมสัมมนาได้มีการว่าจ้างให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับจ้างจัดอบรมสัมมนา In-house Trainingหากผู้จ่ายเงินเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายค่าจ้างอบรมสัมมนาให้กับผู้รับเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือเป็นการจ่ายเงินค่าบริการตามเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) ผู้จ่ายเงินจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไป จะเห็นได้ว่าการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายค่าจ้างวิทยากรจะหักภาษีไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ผู้จ่ายเงินจะต้องระมัดระวังและหักภาษีให้ถูกต้อง
ที่มา http://www.jarataccountingandlaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=419914&Ntype=6