ในช่วงกว่ายี่สิบปีที่ผมเป็นวิทยากรสอน Excel มีผู้สนใจอยากจะให้ผมสอนหลักสูตรวิธีศึกษาความเป็นไปได้หรือที่เรียกติดปากกันว่า “ทำฟีส” อยู่เสมอ ซึ่งแทบทุกครั้งผมต้องปฏิเสธกลับไป มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ผมรับสอนการทำฟีส ครั้งนั้นตั้งใจจะเปิดหลักสูตรนี้ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) แต่พบว่าพอจะถึงวันอบรมมีผู้สนใจสมัครแค่ไม่กี่คน ทางสมาคมจึงปิดหลักสูตรนี้ไป ส่วนผู้ที่สนใจก็ขอร้องให้ผมเปิดสอนส่วนตัวให้ที่บ้าน เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ผมรู้ว่าไม่ควรรับสอนหลักสูตรทำฟีสนี้เด็ดขาด ทำไมน่ะหรือครับ เพราะพื้นฐานของผู้เข้าอบรมต้องมีพร้อมที่จะรับความรู้ด้วย
การหาอัตราผลตอบแทนที่เราเรียกกันว่า IRR (Internal Rate of Return) กับ NPV (Net Present Value) นั้นไม่ใช่เรื่องยากเพราะ Excel มีสูตรสำเร็จรูปเตรียมพร้อมให้ใช้งานได้ทันที ตัวผมก็เรียนปริญญาโท MBA Finance จาก University of Wisconsin โดยเน้นด้าน Capital Budgeting ถ้าใช้ความรู้จากที่เรียนมานำมาสอน Excel ทำฟีสก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ในการทำฟีสเพื่อตัดสินใจลงทุนของจริงนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่สอนในห้องเรียนหรือตามที่แนะนำกัน
วิธีการคำนวณอัตราผลตอบแทนที่แนะนำให้ใช้กันทั่วไป ตามภาพนี้จะใช้ตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิในบรรทัดสุดท้ายที่ตีกรอบไว้ไปใช้ในการคำนวณหา IRR กับ NPV โดยคำนวณหาตัวเลขมาจากยอดกำไรสุทธิ บวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคา แล้วปรับต่อด้วยยอดรายการค้างรับค้างจ่าย (ตามภาพนี้สมมติว่าไม่มีรายการค้างรับค้างจ่ายเสียอีก) เพื่อให้เป็นตัวเงินสดคงเหลือในแต่ละปี จากนั้นจึงนำไปคำนวณร่วมกับเงินลงทุน ซึ่งจากสายตาก็ตัดสินใจได้ไม่ยากแล้วเพราะจากเงินลงทุน 2.4 ล้านบาทสามารถสร้างกระแสเงินสดสุทธิในปีต่อมามากมายหลายเท่าตัว กลายเป็นภาพลวงตาที่ชัดเจนว่าเมื่อนำตัวเลขไปหา IRR หรือ NPV on Project ต้องได้อัตราผลตอบแทนที่พุ่งทะลุกราฟอย่างแน่นอน
ในความเป็นจริงนั้นถ้าจะถือเป็นผลตอบแทนต้องตอบแทนออกมาจริงๆด้วย ตัวเลขกระแสเงินสดแต่ละปีที่เห็นในกรอบ ถ้าเป็นยอดบวกก็ต้องจ่ายคืนออกมาจากระบบ แต่ถ้าจ่ายเงินสดออกมาจนหมดย่อมทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียน ถ้าเป็นยอดติดลบก็แสดงว่าขาดสภาพคล่องซึ่งต้องหาเงินลงทุนมาโปะเพิ่มเข้าไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไม่ควรใช้ตัวเลขกระแสเงินสดตามวิธีคำนวณนี้ไปหาอัตราผลตอบแทนเพราะมันไม่เป็นจริงแม้แต่น้อย
การคำนวณอัตราผลตอบแทนที่ถูกต้อง ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ใครเล่าที่สนใจดูผลตอบแทนมากที่สุด ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นใช่หรือไม่ จากยอดทรัพย์สินถาวรที่ต้องลงทุน เมื่อขอกู้เงินจากธนาคารๆย่อมไม่ให้กู้เต็มจำนวน แต่จะกำหนดให้เจ้าของกิจการต้องออกเงินเองด้วยซึ่งเรียกว่า Equity Financing ซึ่งสิ่งที่จะคืนทุนมาเป็นกำไรให้กับผู้ถือหุ้นก็คือเงินปันผล ดังนั้นในแง่ของเจ้าของกิจการต้องใช้กระแสเงินสดจากส่วนของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลในการคำนวณหา IRR กับ NPV ยอดเงินปันผลที่จะแบ่งจ่ายออกมาจากกำไรนั้นก็ไม่สามารถจ่ายออกมาทั้งหมด บางส่วนต้องสำรองไว้เป็นกำไรสะสมเพื่อกันไว้ใช้ในเหตุการณ์ที่อาจจำเป็นต้องใช้ในอนาคต
ที่กล่าวมานี้เป็นแค่ข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัดในการนำตัวเลขไปใช้คำนวณหา IRR กับ NPV แต่ที่ยากที่สุดในการทำฟีสคือข้อสมมุติฐานต่างๆต้องสมจริงสมจังด้วย พื้นฐานความรู้ของคนที่ทำฟีสไม่ใช่มีแค่พื้นฐานทางบัญชี การเงิน และภาษีอากรเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในธุรกิจที่ทำนั้นเป็นอย่างดีด้วย ต้องสามารถวางแผนว่าจะต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง พนักงานกี่คน ต้องซื้ออาคารและวัสดุสำนักงานอะไรอีกบ้างเพื่อที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ลงทุนนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆเงินจะลอยมาฟรีๆโดยไม่มีใครช่วยทำงานให้เลยใช่ไหม
การทำฟีสที่ดี นอกเหนือจากงบกระแสเงินสดแล้วต้องสามารถทำงบดุล งบกำไรขาดทุนออกมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ด้วย โดยเฉพาะต้องสามารถทำงบเป็นรายเดือนเพื่อดูว่าไม่มีช่วงใดที่ขาดสภาพคล่อง ถ้าทำงบแต่รายปีแม้จะได้อัตราผลตอบแทนที่ดีแต่ไม่ได้ยืนยันว่าธุรกิจจะอยู่รอดไปตลอดตามฟีสที่ทำไว้
นี่คือสาเหตุที่ผมไม่อยากสอนการทำฟีส แต่หากใครมีฟีสที่ทำไว้แล้วและต้องการปรึกษาเพื่อปรับปรุงให้สมจริงสมจังมากขึ้น ผมก็ยินดีให้คำปรึกษาครับ หรืออยากดูแฟ้มที่ผมเคยสร้างไว้สมัยที่ทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เชิญ Download ที่ลิงก์
https://www.excelexperttraining.com/download/FS-Model.zip