ถ้ามองในแง่การจัดการฐานข้อมูลที่ดี การออกแบบฐานข้อมูลแบบ Relational Database ย่อมสอดคล้องตรงตามหลักการ แต่จะทำให้การใช้ Excel ขาดความยืดหยุ่น โดยเฉพาะผู้ที่ขาดพื้นฐานเรื่องสูตรและคำสั่งที่ Excel มีอยู่ มองไม่ออกว่าจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ได้ด้วยวิธีใด
ส่วนตารางฐานข้อมูลแบบ Flat Database แม้ว่ามีข้อมูลซ้ำซ้อนและทำให้แฟ้มมีขนาดใหญ่ แต่จะทำให้ผู้ใช้งานที่ใช้ Excel ไม่เก่งนัก เช่น ผู้บริหาร หรือพนักงานทั่วไปสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ทันที นอกจากนี้หากระบบข้อมูลไม่ซับซ้อนหรือมีประเภทและจำนวนสินค้าไม่มาก มักมีราคาสูงต่อชิ้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เครื่องเพชร ยานยนต์ ควรใช้ตารางแบบ Flat ในชีทเดียวตารางเดียว จะสะดวกต่อการจัดการข้อมูลกว่าการใช้ตารางแบบ Relational
ขอให้พึงระลึกถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้งานไว้เสมอ ถ้าวันหนึ่งพบว่าแฟ้มมีขนาดใหญ่จนทำให้ Excel ทำงานช้าลง แทนที่จะเสียเวลามาปรับแต่งแฟ้มข้อมูลเพื่อหวังให้แฟ้มมีขนาดเล็กลงและคอมพิวเตอร์ทำงานเร็วขึ้น ทางออกหนึ่งคือให้ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ซึ่งทำงานเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยนี้มีราคาไม่แพงนัก ถูกกว่าค่าแรงของพนักงานที่ต้องเสียเวลามาปรับปรุงแฟ้มเสียอีก
แต่ถ้าพบว่าตารางข้อมูลแบบ Flat ที่มีข้อมูลซ้ำกันจากการพิมพ์ กลับทำให้มีข้อมูลผิดพลาดเนื่องจากพิมพ์ตัวสะกดต่างกันบ่อยครั้ง (มีวรรคบ้าง ไม่มีวรรคบ้าง เติม s ต่อท้ายบ้าง มีจุดต่อท้ายบ้าง) ก็ควรเลือกนำ Relational Database มาประยุกต์ใช้ในส่วนที่จำเป็น