ตามปกติเราสามารถย้ายตำแหน่งเซลล์ไปยังเซลล์ที่ต้องการได้โดยการใช้เมาส์คลิกเลือกเซลล์ หรือกดปุ่มลูกศรบนแป้นพิมพ์ไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการไปที่เซลล์ในชีทอื่นก็สามารถกดปุ่ม F5 แล้วพิมพ์ตำแหน่งหรือชื่อเซลล์ที่ต้องการ หรือคลิกเลือกชื่อ Range Name จากช่อง Name Box ซึ่งวิธีเหล่านี้ผู้ใช้งานต้องทราบตำแหน่งหรือชื่อเซลล์ที่ต้องการ แต่ถ้าทราบแต่เพียงต้องการไปที่ค่าใดค่าหนึ่งที่ต้องการโดยไม่ทราบตำแหน่งที่แน่นอนจะทำได้เช่นไร
วิธีแรก
เมื่อสร้างสูตร Index หรือ Offset หรือสูตรใดๆที่ใช้หาค่าที่ต้องการได้โดยตรงได้แล้ว (เว้นสูตร VLookup) ให้ใช้เมาส์คลิกที่เซลล์สูตรแล้วคลิกลากเลือกสูตรทั้งหมดที่เห็นในช่อง Formula Bar จากนั้นให้กดปุ่ม F5 แล้วกดปุ่ม Enter เพียง 1 ครั้ง จะเห็นตำแหน่งเซลล์อ้างอิงของค่านั้นแสดงขึ้นมาในช่อง Formula Bar แทน พร้อมกันนั้นตำแหน่ง Cursor จะย้ายไปแสดงตำแหน่งเซลล์นั้นตามไปด้วย เมื่อพบตำแหน่งเซลล์ของค่าที่ต้องการแล้วให้กดปุ่ม Esc เพื่อแปลงกลับมาเป็นสูตรตามเดิม (ถ้าเผลอกดปุ่ม Enter ต่อไปอีกจะทำให้สูตรเดิมถูกทำลายกลายเป็นตำแหน่งอ้างอิงตามปกติแทน)
วิธีที่ 2
คล้ายกับวิธีแรกแต่จะทำให้ Cursor กระโดดไปยังเซลล์ของค่านั้นได้เลย โดยเริ่มจากเมื่อสร้างสูตร Index หรือ Offset หรือสูตรใดๆที่ใช้หาค่าที่ต้องการได้โดยตรงได้แล้ว (เว้นสูตร VLookup) ให้จัดการ Copy ตัวสูตร (ต่างจากการ Copy Cell) โดยใช้เมาส์คลิกที่เซลล์สูตรแล้วคลิกลากเลือกสูตรทั้งหมดที่เห็นในช่อง Formula Bar แล้วคลิกขวาเพื่อสั่ง Copy แล้วให้กดปุ่ม Esc 1 ครั้ง จากนั้นให้กดปุ่ม F5 แล้วกดปุ่ม Ctrl+v เพื่อสั่ง Paste ตัวสูตรลงไปในช่อง Reference แล้วกดปุ่ม Enter จะพบว่า Cursor จะย้ายไปยังตำแหน่งเซลล์ของค่านั้น
วิธีที่ 3
ให้ตั้งชื่อ Formula Name ให้กับสูตร Index หรือ Offset หรือสูตรใดๆที่ใช้หาค่าที่ต้องการได้โดยตรง (เว้นสูตร VLookup) โดยในการตั้งชื่อนี้ต้องกำหนดตำแหน่งอ้างอิงแบบ Absolute Reference จากนั้นให้กดปุ่ม F5 แล้วพิมพ์ชื่อ Formula Name ลงไปในช่อง Reference แล้วกดปุ่ม Enter จะพบว่า Cursor จะย้ายไปยังตำแหน่งเซลล์ของค่านั้น ซึ่งแนะนำให้ใช้ Macro Recorder บันทึกขั้นตอนตั้งแต่การกดปุ่ม F5 นี้ไว้แล้วสร้างปุ่มกดเพื่อไปยังเซลล์ของค่าที่ต้องการได้ทันทีที่คลิกลงไปในปุ่ม (เนื้อหาการใช้ Macro Recorder แสดงไว้ในหลักสูตรเคล็ดการเพิ่มผลงาน ลดความซับซ้อนของงานด้วย Excel VBA)
วิธีที่ 4
ให้ตั้งชื่อ Range Name ให้กับเซลล์ของค่าที่ต้องการแล้วนำชื่อที่ตั้งนี้ไปสร้างเป็น Hyperlink เช่นเดียวกับการใช้งานบนอินเตอร์เน็ต โดยเริ่มจากพิมพ์ข้อความใดๆลงไปในเซลล์แล้วคลิกขวาสั่ง HyperLink ให้เลือก Place in This Document ในช่อง Link to: ด้านซ้าย แล้วคลิกเลือกชื่อ Range Name ที่ต้องการในช่องด้านขวา แล้วกดปุ่ม OK จะพบว่าข้อความที่พิมพ์ไว้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินและถูกขีดเส้นใต้เอาไว้เพื่อแสดงว่าเป็นลิงค์ที่ใช้เมาส์คลิกได้
เมื่อคลิกที่ลิงค์จะทำให้ Cursor ย้ายไปยังเซลล์ที่มีชื่อ Range name นั้น หากต้องการย้อนกลับมาที่ตำแหน่งเซลล์เดิม ให้กดปุ่ม F5 แล้วตามด้วย Enter
หากต้องการสร้าง HyperLink ที่คลิกเพื่อไปยังแฟ้มอื่นหรือเปิดหน้าเว็บ ให้เลือก Existing File or Web Page ในช่อง Link to: ด้านซ้ายแทน แล้วเลือกชื่อแฟ้มหรือพิมพ์ตำแหน่งที่อยู่ URL http:// ของเว็บ
วิธีที่ 5
ให้ตั้งชื่อ Range Name ให้กับเซลล์ของค่าที่ต้องการแล้วนำชื่อที่ตั้งนี้ไปสร้างเป็น Hyperlink โดยใช้สูตร
=HyperLink(“ชื่อแฟ้มและตำแหน่งเซลล์”, “ข้อความที่แสดง”) เช่น
=HYPERLINK("[DatabaseDesign.xlsm]"&"Id","Click Here")
[DatabaseDesign.xlsm] เป็นชื่อแฟ้ม
Id เป็นชื่อ Range Name
Click Here เป็นข้อความที่จะแสดงเป็นลิงค์ให้คลิก
แทนที่จะต้องพิมพ์ชื่อแฟ้มลงไปในสูตรนี้โดยตรง ซึ่งจะใช้งานไม่ได้หากมีการเปลี่ยนชื่อแฟ้มต่างไปจากเดิม ให้ใช้สูตรต่อไปนี้แสดงชื่อแฟ้มออกมาให้เห็นในเซลล์หนึ่งแล้วจึงลิงค์ชื่อแฟ้มที่หาได้ไปใช้ในสูตร HyperLink จะยืดหยุ่นกว่า
=MID(CELL("filename"),FIND("[",CELL("filename")),FIND("]",CELL("filename"))-FIND("[",CELL("filename"))+1)
แทนที่จะกำหนดชื่อ Id เป็นชื่อที่คงที่ไปตลอด สูตร HyperLink จะช่วยทำให้คลิกไปยังเซลล์ที่ต่างไปจากเดิมได้โดยใช้ชื่อ Range Name เป็นตัวแปรที่กำหนดไว้ในเซลล์อีกเซลล์หนึ่ง ดังนั้นสูตรแบบสมบูรณ์ของสูตรนี้จึงกลายเป็น
=HYPERLINK(A1&A2,A3)
A1 เป็นเซลล์ที่แสดงชื่อแฟ้มที่หาได้จากสูตร Mid ข้างต้น
A2 เป็นเซลล์ที่แสดงชื่อ Range Name
A3 เป็นเซลล์ที่แสดงข้อความที่จะแสดงเป็นลิงค์ให้คลิก
หมายเหตุ
เนื่องจากการคลิกลงไปในเซลล์ที่มีสูตร HyperLink จะเป็นการสั่งให้ Cursor ย้ายไปยังตำแหน่งเซลล์อื่นที่กำหนดไว้ หากต้องการแกะดูสูตรในเซลล์ ให้กดปุ่มซ้ายบนเมาส์คลิกแช่ลงไปในเซลล์สูตร HyperLink สัก 2-3 วินาทีแล้วจึงปล่อยมือจากเมาส์