ชีวิตการทำงานต่างจากชีวิตการเป็นนักเรียนนักศึกษา ชีวิตการทำงานยากกว่าการสอบไล่ประจำปีเสียอีกที่ยังแบ่งหัวข้อที่สอบเป็นเรื่องๆ คนทำงานต้องหาทางนำความรู้ที่เล่าเรียนมาทุกอย่างมาใช้ร่วมกัน พอเข้าทำงานวันแรกก็ต้องพร้อมที่จะนำ Excel มาประยุกต์ใช้ได้ทันที แต่มักพบว่ามหาวิทยาลัยสอน Excel มาแค่เพียงผิวเผิน พอเจอโจทย์ในการทำงานก็มองไม่ออกว่าจะตั้งหลักอย่างไร
สมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พอผมจบปริญญาตรีบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วเข้าทำงานที่ฝ่ายวิจัยและวางแผน ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องใช้เครื่องคิดเลขแบบติดกระดาษม้วนบวกตัวเลขทั้งวันจนคล่องจนไม่ต้องมองแป้นพิมพ์ พอคำนวณเสร็จก็ต้องนำตัวเลขที่พิมพ์ในกระดาษม้วนมาตรวจสอบอีกทีว่า ตัวเลขทุกตัวถูกต้องตามต้องการหรือไม่ จากนั้นจึงนำตัวเลขคำตอบไปเขียนเป็นรายงานนำเสนอให้หัวหน้า แต่ถ้าต้องการคำนวณในโครงสร้างรายงานที่ต่างไปก็ต้องกดเครื่องคิดเลขกันใหม่ จำได้ว่าแม้กลับมาบ้านแล้วยังเก็บมาฝันว่ากดเครื่องคิดเลขต่ออีกทั้งคืน
พอจบปริญญาโทกลับมาทำงานที่ฝ่ายวิจัยและวางแผนอีกครั้ง คราวนี้ได้ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ IBM AT ที่เร็วที่สุดในโลกในสมัยนั้น งานแรกหัวหน้าสั่งให้ใช้โปรแกรมสเปรดชีท Lotus 1-2-3 วิเคราะห์ว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเปลี่ยนจาก 5% - 10% โดยให้เพิ่มช่วงละ 0.25% ไปเรื่อยๆแล้วค่าใช้จ่ายโดยรวมของธนาคารจะเป็นเช่นไร ตอนนั้นผมใช้เวลาคิดหลายวันทีเดียวกว่าจะสร้างรหัส Macro ขึ้นมาสำเร็จ สั่งให้คำนวณแต่ละช่วงอัตราดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ใช้เวลาคำนวณอยู่ครึ่งวัน พอได้คำตอบสรุปในหน้ากระดาษแผ่นเดียวแล้วหัวหน้ายังต้องใช้เครื่องคิดเลขทดสอบตัวเลขซ้ำอีกทีว่าถูกต้องไหม
ถือเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนแรกของฝ่ายวิจัยที่ใช้ Macro ช่วยในการทำงาน แต่ในภายหลังจึงรู้ว่าถ้าใช้ Data Table จะหาคำตอบได้เร็วกว่าและง่ายกว่า Macro หลายเท่า สิ่งที่ผมภาคภูมิใจจึงเปลี่ยนเป็นเรื่องโง่แต่อวดฉลาดไปทันที
นี่เป็นบทเรียนแรกที่สอนให้รู้ว่า ต้องรอบรู้ก่อนรู้ลึก