เป็นเงื่อนไขที่พบเห็นกันทั่วไป เช่น สูตร IF ในตัวอย่างที่ใช้สำหรับเปลี่ยนเส้นทางในการรับค่านั่นเอง เมื่อเงื่อนไขการรับค่าแรกผ่านไปแล้ว ได้คำตอบแรกตามเงื่อนไขแรกเมื่อตัดสินว่าใช่ไปแล้วก็จะได้คำตอบกรณีที่ใช่เรียบร้อย แต่หากเงื่อนไขแรกไม่ผ่าน ก็จะต้องพิจารณาเงื่อนไขในลำดับถัดไป ซึ่งแสดงเป็นโครงสร้างสูตร IF จากแบบง่ายๆกลายเป็นแบบซ้อนกันดังนี้
สำหรับการตัดสินใจในเงื่อนไขแรก
=IF(เงื่อนไขที่ 1, ผลกรณีใช่ของเงื่อนไขที่ 1, ผลกรณีไม่ใช่ของเงื่อนไขที่ 1)
ถ้าเงื่อนไขที่ 1 ยังไม่ผ่าน ให้แตกผลกรณีไม่ใช่ของเงื่อนไขที่ 1 ต่อเป็น IF สูตรที่สองเพื่อคิดตามเงื่อนไขที่ 2
=IF(เงื่อนไขที่ 2, ผลกรณีใช่ของเงื่อนไขที่ 2, ผลกรณีไม่ใช่ของเงื่อนไขที่ 2)
เมื่อนำสูตรทั้งสองเงื่อนไขมาซ้อนเป็นสูตรในเซลล์เดียว จะได้สูตรตามนี้
=IF(เงื่อนไขที่ 1, ผลกรณีใช่ของเงื่อนไขที่ 1, IF(เงื่อนไขที่ 2, ผลกรณีใช่ของเงื่อนไขที่ 2, ผลกรณีไม่ใช่ของเงื่อนไขที่ 2) )
ตัวอย่างการใช้ IF แบบกำหนดเงื่อนไขแตกต่อกรณีที่ไม่ใช่ในการตัดเกรด
กำหนดให้เซลล์ B3:C5 เป็นตารางคะแนน-เกรด
- ถ้าสอบได้ตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไปให้ได้เกรด A
- ถ้าสอบได้ตั้งแต่ 70 คะแนนขึ้นไปให้ได้เกรด B
- ถ้าสอบได้ตั้งแต่ 0 คะแนนขึ้นไปให้ได้เกรด C
สมมติว่าเซลล์ E3 มีค่าเป็น 75 เป็นคะแนนที่สอบได้ เซลล์ F3 หาคำตอบเป็นเกรด B โดยใช้สูตร IF ซ้อนกันดังนี้
=IF( E3>=B3, C3, IF(E3>=B4,C4,C5) )
ซึ่งแปลสูตรออกมาตามเงื่อนไขที่กำหนดได้เป็น
=IF( คะแนนที่สอบได้ >=90, "A", IF(คะแนนที่สอบได้ >=70,"B","C") )
ข้อสังเกต
- การเขียนสูตร IF ซ้อน IF มีหลักการสำคัญ คือ ต้องจัดลำดับของเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ IF ทุกตัวในสูตรมีโอกาสได้ทำงาน ดังนั้นจึงต้องใช้เงื่อนไข คะแนนที่สอบได้ >=90 ขึ้นก่อนเป็นเงื่อนไขแรก หากเงื่อนไขนี้ไม่ผ่านจึงปล่อยให้เงื่อนไขถัดไปทำงาน (แต่ถ้าสร้างผิดโดยใช้เงื่อนไข >=70 ขึ้นก่อน จะปิดโอกาสของเงื่อนไขเกรด A เพราะ >=70 ย่อมหมายถึง >=90 อยู่แล้ว)
- แม้ต้องการเกรด A, B, C แต่เราใช้ IF ซ้อนกันเพียง 2 IF เท่านั้น เพราะถ้าไม่ใช่ทั้งสองเงื่อนไข ก็ต้องเป็นเกรด C นั่นเอง