เคยมีคำกล่าวว่า Excel ไม่สามารถนำมาใช้กับการวางแผนความต้องการวัสดุได้หรอก เราต้องหันไปซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปราคาแพงเป็นแสนเป็นล้านบาทมาใช้ในการวางแผนการผลิต ซึ่งโรงงานผลิตสินค้าหลายๆแห่งอาจคิดว่าไม่แพง เพราะเมื่อนำราคาโปรแกรมสำเร็จรูปไปเทียบกับมูลค่าของโรงงานและสินค้าที่ผลิตแล้วถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แล้วเมื่อนำโปรแกรมสำเร็จรูปเหล่านี้มาใช้ กลับพบว่าไม่สามารถนำมาใช้กับการวางแผนการผลิตได้อย่างสมบูรณ์เสียอีก ครั้นจะขอให้ผู้ขายโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยแก้ไขดัดแปลงโปรแกรมให้ใหม่ก็ถูกคิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินอีกมากมาย ที่แย่ที่สุดก็คือ พอซื้อโปรแกรมมาใช้ได้สักพัก เจ้าตัวบริษัทที่ขายโปรแกรมให้กลับปิดตัวเลิกกิจการไปแล้ว เป็นเหตุให้โปรแกรมสำเร็จรูปที่ได้มาถูกนำมาใช้งานแค่ครึ่งๆกลางๆหรือถึงกับเลิกใช้ไปเลยก็มี
คนที่เก่งคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์หรือผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวง IT มักเข้าใจว่าปัญหาการคำนวณยากๆ ต้องหาทางเขียนโปรแกรมหรือหาซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหายากๆเหล่านั้นโดยเฉพาะ แม้แต่คนที่เก่ง Excel ก็ตาม มักชอบคิดว่าต้องใช้โปรแกรม VBA (Visual Basic for Applications) เป็นทางออกสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้สูตรหรือคำสั่งบนเมนูของ Excel ช่วยในการแก้ปัญหาที่ว่ายากนั้นได้ ซึ่งถ้าว่าไปแล้วก็ไม่ใช่การคิดที่ไม่มีเหตุผล เพราะปัญหาการคำนวณยากๆ ยกตัวอย่างเช่นการวางแผนการผลิต มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน เช่น เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับยอดสินค้าคงเหลือต้นงวดปลายงวด ยอดวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้อซึ่งยังสัมพันธ์กับโครงสร้างผลิตภัณฑ์หรืออัตราส่วนผสม หากวัตถุดิบขาดมือก็ต้องสั่งซื้อมาสำรองไว้ให้เพียงพอซึ่งเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการขายของผู้ขายเข้าไปอีก และทั้งหมดนี้ยังต้องหาทางกำหนดเวลาที่จะต้องสั่งผลิตเพื่อให้ได้จำนวนสินค้าตามต้องการ ณ กำหนดเวลาที่ต้องการ .... แค่เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็แทบไม่อยากจะคิดด้วยสมองแล้วใช่ไหม หลายต่อหลายคนจึงพากันตอบว่า หันไปซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้กันดีกว่า
จากประสบการณ์ที่ผมคลุกคลีอยู่กับ Excel มานานกว่ายี่สิบปีพบว่า คนที่เก่ง Excel มากๆมักขาดความรู้เรื่องการวางแผนการผลิต ส่วนคนที่เก่งในการวางแผนการผลิตก็มักจะไม่เก่ง Excel จึงทำให้ไม่มีใครที่สามารถนำความรู้ทั้ง Excel และการวางแผนการผลิตมาใช้งานร่วมกันเสียที ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้กรุณาให้ผมเข้าอบรมหลักสูตรการวางแผนการผลิตที่สมาคมจัดขึ้น ทำให้เกิดแนวทางใช้ Excel โดยออกแบบตารางคำนวณแบบ Compound Module นี้ขึ้นมา จึงใคร่ขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคงไม่เป็นการกล่าวที่เกินไปว่า ในโลกนี้มีแต่ประเทศไทยของเราเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีการออกแบบตารางคำนวณแบบ Compound Module หรือหากประเทศอื่นทำได้ก็น่าจะเรียนรู้มาจากเราอีกต่อหนึ่ง