มีบทเรียนเรื่องภาษีมาเล่าให้ฟังครับ จากนี้ไปเราต้องรอบคอบในเรื่องการยื่นภาษีประจำปีกันมากขึ้น เพราะสรรพากรใช้ระบบคอมที่ตรวจสอบได้ละเอียดมาก
เดือนก่อนๆผมถูกเรียกไปให้ความรู้เรื่องภาษีเพราะมีผู้ร้องเรียนไปที่กรมสรรพากรว่าผมหักภาษีไม่ถูกประเภท ซึ่งผลปรากฏว่า ผมหักภาษีถูกประเภทอยู่แล้ว คนที่ร้องเรียนนั่นแหละเข้าใจผิด จึงขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังกันครับ
ประเด็นที่มักเข้าใจผิดอยู่ที่การผมรับงานสอนในฐานะบุคคลธรรมดา จะถือเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตราอะไร 40(2) หรือ 40(7) หรือ 40(8) ซึ่งต่างจากการจ้างผู้สอนที่มาในฐานะบริษัทฝึกอบรมซึ่งหักภาษี 3% เสมอ
ถ้าจะเป็น 40(8) ผมจะต้องมีค่าใช้จ่ายลงทุนในการสอนแต่ละครั้ง เช่น มีการว่าจ้างผู้ช่วยสอน มีค่าใช้จ่ายก่อสร้างสถานที่อบรม ค่าเช่าสถานที่หรือเช่าเครื่องคอม ค่าอาหาร
ถ้าจะเป็น 40(7) จะต้องมีเป็นความรู้พิเศษที่ต้องลงทุนในการวิจัยพัฒนาหรือลงทุนค้นคว้าเป็นเรื่องเป็นราว
ค่าอบรมที่จ่ายให้ผมนั้นเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ยืนยันแล้วว่าถือเป็น 40(2) เพราะผมไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแบบ (7) (8) ผู้เข้าอบรมหิ้วเครื่องคอมมาเอง สถานที่ก็เป็นบ้านผมที่ไม่ได้ลงทุนเพิ่มอะไร
วิธีการหักภาษี ณ ที่จ่ายตาม 40(2) จะคิดตามแบบการจ้างงานเหมือนว่าจ้างพนักงาน ถ้ารายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำก็ยังไม่ต้องหักภาษี ซึ่งต้องมีรายได้การจ้างรวมแสนกว่าบาทจากผู้ว่าจ้างรายหนึ่งๆจึงจะเริ่มหัก และถ้าถึงเกณฑ์ต้องหักจะหักในอัตราแรกสุดคือ 5% ครับ ไม่ใช่ 3%
ค่าอบรมที่ผมแสดงไว้บนเว็บนั้น ยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะหักภาษี แต่ถ้าบริษัทอยากจะหักก็ตามใจครับ โดยขอให้ถือว่าเงินค่าอบรมที่จ่ายให้ผมเป็นยอดหลังจากหักภาษีแล้วและขอให้ออกหนังสือรับรองหักภาษีให้ผมด้วย
นอกจากนี้สาเหตุที่ผมต้องรอให้ถึงปีใหม่ก่อนจึงจองกันได้เพราะอยากให้เงินจองที่โอนมาให้ผมรับรู้ตามหลักเงินสด ตรงกับเอกสารทางบัญชีของบริษัทด้วย ทางสรรพากรมีระบบ reconcile รายรับรายจ่าย ถ้าเหลื่อมปีกันก็อาจถูกเรียกไปสอบถามทั้งสองฝ่าย
หวังว่าเรื่องนี้จะทำให้พวกเราระมัดระวังในการรับจ่ายเงินกันมากขึ้น ต้องหาหลักฐานมายืนยันได้ หรือทำบัญชีจดรายรับรายจ่ายไว้ด้วยครับ
วิทยากรที่รับจ้างสอนให้กับสถาบันฝึกอบรม แม้จะไม่ได้รับเงินค่าอบรมโดยตรงจากผู้เข้าอบรมก็ตาม แต่ยังได้รับเงินค่าจ้างจากสถาบันฝึกอบรม ซึ่งสถาบันฝึกอบรมก็ต้องหักภาษีตาม 40(2) ให้กับวิทยากรของตนเช่นกัน